Y MAGAZINE

0

“ครัวใบไม้”
แกงกะทิสายบัวปลาทู
เสน่ห์ที่อยู่เหนือกาลเวลา 

 : ​ ​ ​ศิริวรรณ กฤษณะสุคนธ์ 
: วันที่  ​5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

แกงกะทิสายบัวปลาทู มีรากฐานจากอาหารพื้นบ้านของภาคกลาง นับเป็นอาหารไทยโบราณ ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยก่อน ด้วยรสชาติที่กลมกล่อม หอมมันจากกะทิ ตัดกับความเปรี้ยวของน้ำมะขาม และความหวานจากสายบัวที่ดูดซับน้ำแกงไว้อย่างเต็มที่ ผสานกับเนื้อปลาทูที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์  โดยเฉพาะปลาทูจากแม่กลองที่มีเนื้อนุ่มแน่น รสหวาน มันทำให้แกงกะทิถ้วยนี้ครองใจหลายครัวเรือนมาอย่างยาวนาน

การนำสายบัวมาปรุงกับกะทิ เป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ต้องการเพิ่มความหอมมันให้กับผักที่มีเนื้อสัมผัสกรอบนุ่ม เมื่อต้มในกะทิข้นๆ สายบัวจะดูดซับน้ำแกงได้ดี ยิ่งเคี่ยว ยิ่งอร่อย

สายบัวเป็นผักที่พบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยทั่วไปมาจาก ดอกบัวหลวง ทั้งสีชมพู (บัวแดง) และสีขาว (บัวขาว) แต่ถ้าต้องการรสชาติที่อร่อยที่สุด ควรเลือกสายบัวจาก ดอกบัวนาปี ซึ่งเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝนหรือน้ำหลาก ให้สัมผัสนุ่ม ไม่เหนียว
  
อยากให้แกงกะทิถ้วยนี้ออกมารสเลิศ ต้องใส่ใจในรายละเอียดเหล่านี้
- เลือกปลาทูให้เหมาะสม ใช้ปลาทูนึ่งที่สดใหม่ เนื้อแน่น ไม่มีกลิ่นคาว แกะเอาแต่เนื้อหรือใส่ทั้งตัวตามชอบ ถ้าชอบรสเข้มข้นสามารถใช้หัวปลาทูเพิ่มความกลมกล่อม
- สายบัวต้องสดและเตรียมให้ถูกวิธี เลือกสายบัวอ่อน สีขาวนวล ไม่แข็ง เด็ดเป็นท่อนสั้นประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วบีบไล่น้ำขมออกก่อนนำไปแกง
- น้ำกะทิต้องมันและหอม ใช้กะทิคั้นสดจะให้รสชาติที่เข้มข้นและหอมมันกว่าแบบกล่อง ควรใช้ไฟอ่อนถึงปานกลางในการเคี่ยวกะทิ เพื่อป้องกันไม่ให้แตกมันเร็วเกินไป
- ปรุงรสให้กลมกล่อม เติมน้ำมะขามเปียกเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเปรี้ยวหวาน น้ำปลาต้องเลือกที่มีคุณภาพดี เพื่อให้รสชาติของแกงสมดุล

เพียงเท่านี้ก็จะได้แกงกะทิสายบัวปลาทูรสละมุน อบอวลไปด้วยเสน่ห์ของครัวไทยดั้งเดิม ยิ่งรับประทานคู่กับข้าวสวยร้อนๆ ยิ่งอร่อยกลมกล่อม ลองทำดูแล้วจะรู้ว่า อาหารไทยแท้ๆ อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เมนูนี้จึงเป็นอีกหนึ่งตำรับที่ควรค่าแก่การสืบทอดให้ลูกหลานสืบไป 

“ครัวใบไม้”
ขมิ้นชันดียังไง

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตร
: วันที่  ​5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย มีกลิ่นหอมที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว จึงที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยา และเครื่อสำอาง รวมถึงการนำมาประกอบอาหารหลากหลายเมนู เป็นเครื่องปรุงที่ให้กลิ่นสัมผัสที่ดี ช่วยให้เจริญอาหาร

ขมิ้นชันมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบ และโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ ช่วยให้ระบบย่อยอาหาร โดยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย ช่วยให้กระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น และช่วยบำรุงตับ อีกทั้งยังเป็นเครื่องประทินผิวชั้นเยี่ยม ทำให้ผิวเรียบเนียนกระจ่างใส

แม้ว่าขมิ้นชันจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป หรือผู้ที่มีอาการแพ้ก็อาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนได้ 

เมนูง่ายๆทานอร่อยจากขมิ้นชันสด

#ไข่เจียวขมิ้นชัน
ตีไข่สองฟองให้เป็นเนื้อเดียวกัน ล้างทำความสะอาด และปอกเปลือกขมิ้นชัน ซอยเป็นชิ้นเล็กๆประมาณ 2 ช.ต.ใส่ลงในไข่ ปรุงรสด้วยซอสปรุงรสและน้ำปลา อย่างละเอียด 1 ช.ช.หรือตามต้องการ ตีให้เข้ากันดี ตั้งกระทะใช้ไฟกลางไปทางแรง ใส้น้ำมัน 3 ช.ต. พอน้ำมันร้อนเทไข่ลงไป เจียวให้สุกหอม ตักขึ้นใส่ภาชนะ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ และพริกน้ำปลาสักหน่อย ก็จะอร่อยมากๆเลย 

“ครัวใบไม้”
ทานอาหารให้เป็นยา แกงเลียงหัวปลีกุ้งสด 

 : ​ ​ ​ศิริวรรณ กฤษณะสุคนธ์ 
: วันที่  ​29 มกราคม พ.ศ. 2568

แกงเลียง เมนูแกงน้ำใสรสเผ็ดร้อน หอมกลิ่นสมุนไพรจากผักพื้นบ้านที่ปลูกริมรั้ว อย่าง ฟักทอง บวบ น้ำเต้าอ่อน ตำลึง และหัวปลี ผสานกับกุ้งแห้งช่วยให้น้ำแกงหวานกลมกล่อม เพิ่มเอกลักษณ์ด้วย ใบแมงลัก ที่ให้ความหอมเฉพาะตัว พร้อมพริกไทยสมุนไพรตำรับโบราณ ช่วยขับลม กระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต และบำรุงร่างกาย แกงถ้วยนี้มีกะปิเป็นตัวชูรส เติมมิติแห่งรสชาติให้แกงเลียงมีกลิ่นอายทะเลสดชื่น ผสมกับวัตถุดิบอย่างกุ้งสดหรือปลาย่างที่ช่วยเพิ่มความเข้มข้นแบบลงตัว ในปัจจุบัน บางสูตรมีการเพิ่มข้าวโพดอ่อนเพื่อรสสัมผัสที่หลากหลาย หรือ ใส่กะทิเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหอมมัน แต่ยังคงความเป็นซุปเพื่อสุขภาพได้อย่างดี “แกงเลียง อาหารเป็นยา” 
 
แกงเลียงถือเป็นเมนูที่ผสานคุณประโยชน์จากสมุนไพรและผักที่มีสรรพคุณทางยา ใช้ปรับสมดุลร่างกายตามหลักโบราณ ฤทธิ์ร้อนจากสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย ทำให้แกงเลียงกลายเป็นเมนูที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ

แจกสูตร แกงเลียงหัวปลีกุ้งสด วัตถุดิบ
กุ้งแห้งสับ 15 กรัม
เม็ดพริกไทยขาว 1½ ช้อนชา
รากผักชี 2 ราก
หอมแดง 4 หัว
กะปิ 2 ช้อนชา
น้ำสะอาด 400 มิลลิลิตร
กุ้ง 6 ตัว
น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1 ช้อนชา
ข้าวโพดอ่อน 40 กรัม
หัวปลี 70 กรัม
เห็ดฟาง 40 กรัม
แครอท 40 กรัม
ใบตำลึง 40 กรัม
ใบแมงลัก 20 กรัม


วิธีทำ โขลกกุ้งแห้งสับ พริกไทย รากผักชี หอมแดง และกะปิเข้าด้วยกันจนแหลก ต้มน้ำให้เดือด ใส่เครื่องโขลกและเกลือลงไป คนจนหอมดี ใส่กุ้งสด ข้าวโพดอ่อน เห็ดฟาง และแครอท ต้มต่อจนสุก ใส่หัวปลีตอนน้ำเดือด ปิดฝา รอให้หัวปลีสุก ปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายและน้ำปลา ใส่ใบแมงลักและตำลึง คนเบา ๆ ปิดไฟ พร้อมเสิร์ฟ

เมนูแกงเลียงหัวปลีกุ้งสด อร่อยร้อน ๆ แถมยังดีต่อสุขภาพ ลองทำกันดูนะคะ! 

“ครัวใบไม้”
สะท้อนถึงความพิถีพิถัน
แกงคั่วสับปะรดหอยแมลงภู่ 

 : ​ ​ ​ศิริวรรณ กฤษณะสุคนธ์ 
: วันที่  ​22 มกราคม พ.ศ. 2568

แกงคั่วเป็นหนึ่งในเมนูอาหารไทยดั้งเดิมที่มีต้นกำเนิดมาจากภาคกลางของประเทศไทย โดยมีจุดเด่นคือการใช้เครื่องแกงและกะทิเป็นหลัก สร้างรสชาติให้หอมมันกลมกล่อม เป็นหนึ่งในเมนูที่สะท้อนถึงความพิถีพิถันของคนไทยในการปรุงอาหาร
 
การเพิ่มลูกเล่นด้วย ‘สับปะรด’ เข้ามาในเมนูแกงคั่วนั้น เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต้องการเพิ่มความหวานอมเปรี้ยวให้กับแกงคั่ว อีกทั้งยังช่วยตัดความเลี่ยนของกะทิ ทำให้เมนูนี้มีรสชาติที่หลากหลายและน่าทานมากขึ้น ส่วนของ ‘หอยแมลงภู่’ เป็นวัตถุดิบพื้นถิ่นที่หาได้ง่ายในชุมชนริมชายฝั่ง ทำให้แกงคั่วสับปะรดหอยแมลงภู่กลายเป็นเมนูที่ทั้งหอมเครื่องแกงแบบไทยแท้ อร่อย สื่อถึงความผูกพันของคนไทยกับธรรมชาติ
 
ในอดีต มักนิยมปรุงขึ้นในโอกาสพิเศษ เป็นอาหารที่เจ้าบ้านตั้งใจทำเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน เพราะถือว่าเป็นเมนูที่มีรสชาติครบทั้งเค็ม หวาน มัน และเปรี้ยว อีกทั้งยังสะท้อนถึงความใส่ใจ และความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบในท้องถิ่น
 
ส่วนในปัจจุบันนั้น ถือว่าได้รับความนิยมในวงกว้างและเป็นเมนูที่คนไทยยังภาคภูมิใจในการนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้ลิ้มลอง เพราะนอกจากรสชาติที่โดดเด่นแล้ว ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการกินของไทยที่หลากหลายและลึกซึ้งอีกด้วย

ประโยชน์จากวัตถุดิบหลัก ๆ ที่ไม่ควรมองข้าม
หอยแมลงภู่ มีโปรตีนสูง ช่วยบำรุงเลือดและเสริมภูมิคุ้มกัน ส่วน สับปะรด นั้นอุดมด้วยวิตามิน C ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยย่อยโปรตีน ไปจนถึง กะทิ แม้จะให้พลังงานที่มาก แต่ถ้ากินอย่างพอดีก็ช่วยเพิ่มรสชาติหอมมันกลมกล่อมให้แกง ทริคเล็ก ๆ เพิ่มความอร่อย

ขั้นเทพให้แกงคั่วสับปะรดหอยแมลงภู่
- เริ่มต้ั้งแต่วัตถุดิบหลัก หอยแมลงภู่ ควรเลือกหอยที่มีความสด ตัวหอยต้องปิดสนิท เปลือกไม่แตก เมื่อลวกแล้วเนื้อต้องหวาน ไม่มีกลิ่นเหม็นคาว
- เลือกใช้สับปะรดรสที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน เพื่อเพิ่มรสชาติให้แกงกลมกล่อม ไม่หวานจนเลี่ยนเกินไป
- เครื่องแกงต้องหอม ผัดเครื่องแกงโดยการใส่กะทิทีละนิด ผัดจนแตกมัน เพื่อให้แกงมีกลิ่นหอมและรสชาติซึมเข้าเนื้อ
- ต้องฉีกใบมะกรูด เพื่อเพิ่มความหอม สดชื่น และช่วยตัดกลิ่นคาว
- สำคัญที่สุดคือการปรุงรสอย่างใจเย็น ค่อย ๆ ชิม อย่าให้เค็มหรือหวานจนเกินไป ปรุงจนได้รสที่ชอบหรือต้องการ
แกงคั่วสับปะรดหอยแมลงภู่ นิยมทานคู่กินกับข้าวสวยร้อน ๆ หรือขนมจีนก็ฟิน ไม่ใช่แค่รสชาติที่ลงตัว แต่ยังมีประโยชน์ที่ครบถ้วนในคำเดียว ลองทำดูสิ แล้วจะรู้ว่า…แกงไทยก็เผ็ดมัน แต่มีความหวานละมุนที่ลงตัวเหมือนกัน  

“ครัวใบไม้”
สะเดาน้ำปลาหวาน

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​15 มกราคม พ.ศ. 2568

สะเดากับน้ำปลาหวานรสชาติแห่งความลงตัว เป็นเมนูอาหารไทยที่ผสมผสานความขมกับ ความเปรี้ยว และความหวาน ได้อย่างเข้ากัน จนกลายเป็นเมนูยอดนิยม คนไทยเรามีประวัติการกินสะเดาน้ำปลาหวานมายาวนาน และมีความหมายทางวัฒนธรรม มีอัตลักษน์ เป็นอาหารพื้นๆ สำรับคนทุกระดับชนชั้น โดยเฉพาะในภาคกลาง ซึ่งมีการนำกุ้งแม่น้ำเผา หรือปลาดุกย่างมากินคู่กัน 

ในอดีต ท้องถิ่นที่อยู่ใกล้แม่น้ำ ก็จะกินสะเดาน้ำปลาหวานกับกุ้งแม่น้ำเผา ความฉ่ำของเนื้อกุ้ง และความมันจากหัวกุ้ง ช่วยเสริมรสชาติ รสสัมผัส และกลิ่นสัมผัส ได้เป็นอย่างดี บวกกับกลิ่นหอมจาก หอมแดงเจียว และความเผ็ดหอมจากพริกขี้หนูแห้งทอด ยิ่งเสริมให้เมนูนี้มีเสน่ยิ่งนัก และในท้องถิ่นที่อยู่ใกล้บึงน้ำ หรือหนองน้ำ ก็จะใช้ปลาดุกย่าง มากินคู่กับสะเดาน้ำปลาหวาน เพราะหาได้ง่าย อีกทั้งเนื้อของปลาดุก มีความฉ่ำ นุ่ม หนึบ มีกลิ่นหอมเฉพาะ และความมันจากหนังของปลาดุกที่ย่างจนหนังกรอบ ยิ่งช่วยส่งเสริมให้เมนูนี้มีความพิเศษเป็นอย่างมาก 

แต่ในปัจจุบันนี้ กุ้งแม่น้ำเป็นวัตถุดิบที่มีราคาค่อนข้างสูง จึงเป็นเหตุให้คนหันมากินสะเดาน้ำปลาหวานกับกับปลาดุกย่างกันมาก และหาซื้อได้ง่ายกว่า เพราะมีแม่ค้าทำสำเร็จรูปมาขายตามตลาดทั่วไป ส่วนสะเดาน้ำปลาหวานกับกุ้งแม่น้ำเผา จะมีขายตามภัตตาคาร และห้องอาหารไทยชั้นนำเสียส่วนใหญ่ เพราะมีราคาที่สูงกว่า   สรรพคุณทางยาของสะเดา ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด ช่วยในการย่อยอาหาร ขับพยาธิ บำรุงโลหิต ลดความดัน 

“ครัวใบไม้”
เสน่ห์อาหารไทย น้ำพริกปลาทู

 : ​ ​ ​ศิริวรรณ กฤษณะสุคนธ์ 
: วันที่  ​15 มกราคม พ.ศ. 2568

หนึ่งในเมนูที่แสดงถึงความเรียบง่ายและเป็นเสน่ห์ของอาหารไทยพื้นบ้าน น้ำพริกปลาทู ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมครบรส ทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ดเล็กน้อย และยังเสริมด้วยกลิ่นหอมควันไฟจากการเผาสมุนไพร วัตถุดิบทุกอย่างล้วนมีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่าง ‘ปลาทู’ ให้โปรตีนและโอเมก้า 3 ช่วยบำรุงสมองและหัวใจ ‘สมุนไพรไทย’ พริกช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ กระเทียมและหอมแดงมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และผักสดและผักลวก เพิ่มไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย

ลองมาทำตามสูตรนี้รับรองว่าได้รสชาติที่อร่อยเหมือนต้นตำรับแน่นอน! 

วัตถุดิบหลัก ได้แก่ 
- ปลาทูย่าง 2 ตัว
- พริกขี้หนูสวน 10-15 เม็ด (เพิ่มหรือลดได้ตามชอบ)
- หอมแดง 5 หัว
- กระเทียม 5 กลีบ
- น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ (ปรับตามความเค็มที่ต้องการ)
- น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ (เพิ่มหรือลดได้ตามรสชาติที่ต้องการ)
- น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนชา
- ผักสดและผักลวกตามชอบ เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง ผักบุ้ง มะเขือ เป็นต้น

5 ขั้นตอนการทำน้ำพริกปลาทูง่ายๆ
- ขั้นตอนแรก เตรียมปลาทูให้สุกหอม
ย่างปลาทูให้สุกหอม หรือถ้าไม่มีเตาย่าง สามารถอบในเตาอบหรือทอดด้วยไฟอ่อนก็ได้ แกะเนื้อปลาทูออก แยกก้างและหัวปลาทิ้งไว้ แล้วนำเนื้อปลามาพักไว้ในถ้วย
- ขั้นตอนที่สอง เตรียมเครื่องสมุนไพรให้หอมกรุ่น
เผาพริกขี้หนู หอมแดง และกระเทียมบนกระทะหรือเตาถ่านให้มีกลิ่นหอม แนะนำให้ใช้ไฟอ่อนเพื่อไม่ให้ไหม้ ปอกเปลือกหอมแดงและกระเทียมที่เผาไว้พักให้เย็น
- ขั้นตอนที่สาม ตำเครื่องน้ำพริก
ตำพริกขี้หนู กระเทียม และหอมแดงในครกให้หยาบจนละเอียด ใส่เนื้อปลาทูที่เตรียมไว้ลงไปในครก ตำพอหยาบให้เนื้อปลาทูคลุกเคล้ากับพริกขี้หนู กระเทียม หอมแดง ที่ตำไปตอนต้น
- ขั้นตอนที่สี่ ปรุงให้ได้รสชาติกลมกล่อม 
เติมน้ำปลา น้ำมะนาว และน้ำตาลปี๊บลงไป ใช้ช้อนคลุกเคล้าเบา ๆ ให้เข้ากัน ชิมรสชาติให้ได้ตามชอบแต่ควรมีรสเปรี้ยวนำ ตามด้วยเค็มและหวานเล็กน้อย
- ขั้นตอนที่ห้า จัดจานพร้อมทานคู่กับผักสด ผักต้ม 
ตักน้ำพริกใส่ถ้วย เสิร์ฟพร้อมผักสดและผักลวก เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง ผักบุ้ง และมะเขือ กินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ หรือข้าวเหนียว รับรองอร่อยฟิน!

น้ำพริกปลาทูไม่ใช่แค่อาหารแต่ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตเรียบง่ายและความใส่ใจในสุขภาพลองทำดูแล้วคุณจะหลงรักเมนูนี้แน่นอน  

“ครัวใบไม้”
ขนมจีนซาวน้ำ

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​8 มกราคม พ.ศ. 2568

เป็นอาหารไทยที่รสชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีความกลมกล่อมครบสามรส เปรี้ยว เค็ม หวาน แบบนวลๆ ไม่จัดจ้านมากนัก

ใช้หัวกะทิสดใส่เกลือเล็กน้อยตั้งไฟคอยคนตลอดเวลาป้องกันกะทิแตกมันพอกะทิร้อนก็ยกออกจากเตาพักไว้ ไม่ต้องรอให้กะทิเดือด เพราะจะทำให้กะทิแตกมัน ไม่น่าทาน

จากนั้นเตรียมทำแจงลอน โดยนำตะใคร้ ข่า พริกแห้ง กระชาย ผิวมะกรูด เกลือ โขลกเข้าด้วยกันให้ละเอียด ใส่เนื้อปลากรายที่ขูดเตรียมใว้ลงไปโขลกรวมกัน จนเนื้อปลาเหนียวเด้ง ตัดใส่ภาชนะพักใว้

นำส่วนของหากะทิขึ้นตั้งไฟ พอเดือดปั้นเนื้อปลากะชิ้นประมาณพอดีคำ ลงไปต้มให้สุก ตักขึ้นใส่ภาชนะพักไว้  นำส่วนของหางกะทิถ้าเสียดาย ก็เก็บไว้ใส่แกงชนิดอื่นๆ  (หรือจะนำไปใส่รวมกับหัวกะทิก็ได้ แต่ก็จะทำให้ความกลมกล่อมน้อยลง)

แล้วจึงมาเตรียมเครื่องเคียงเครื่องเหมือดอื่นๆ มีสับปะรดหั่นชิ้นเล็กๆ เนื้อกระเทียมซอย ขิงซอย พริกขี้หนูซอย กุ้งแห้งโขลกจนเนื้อฟู

เวลารับประทาน ก็จัดเส้นขนมจีนใส่จาน ราดด้วยหัวกะที่ใส่แจงลอนลงไปด้วย โรยหน้าด้วยเครื่องเคียงเครื่องเหมือดต่างๆที่เตรียมไว้ ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลทราย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสตามความชอบ แนมด้วยไข่เป็ดต้มยิงอร่อยเข้ากัน 

“ครัวใบไม้”
เรื่องของใบมะกรูด 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​25 ธันวาคม  พ.ศ. 2567 

หลายท่านคงรู้จักคุ้นเคยกับใบมะกรูดกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นพืชสมุนไพร ที่ช่วยเพิ่มกลิ่นสัมผัส ให้อาหารมีเสน่ห์มากขึ้น นิยมใช้เป็นส่วนประกอบหลากหลายเมนู เช่น แกง ต้ม ผัด ยำ  และมีสรรพคุณในการบำบัดสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ดูแจ่มใส แก้ปวดเมื่อย แก้​วิงเวียนศีรษะ

วิธีการใช้ใบมะกรูดให้ได้ประโยชน์มากที่สุดตามเวลาอายุของใบ
ใบมะกรูดอ่อน คือนับจากยอดใบสูงสุดลงมาจนถึงใบที่สี่ จะมีความนิ่น อมขมเล็กน้อย นิยมนำมาทำเป็นเครื่องจิ้ม นำมาต้มกับกะทิ หรือลวกให้สุก หรือทานสด

ใบมะกรูดกลางๆไม่อ่อนไม่แก่ (เรียกว่าใบเพสลาด)
เนื่องจากใบที่ห้าลงมาถึงใบที่เจ็ด ตรงส่วนนี้จะให้กลิ่นที่หอมสดชื่น ไม่นิ่มหรือเหนียวเกินไป นิยมนำมาใส่แกง ยำ ผัด ช่วยเพิ่มรสและกลิ่นหอมให้กับอาหาร ทำให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น และยังช่วยลดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์อีกด้วย

ใบมะกรูดแก่ นับจากใบที่แปดลงไป เนื่อจากใบตรงส่วนนี้มีความเหนียวและแข็ง ไม่เหมาะนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร แต่สามารถนำมาทำเครื่องดื่ม เป็นชาเพื่อสุขภาพได้ หรือนำมาต้มกับน้ำ ใช้อาบ หรือแช่ร่างกาย เพื่อบรรเทาอาการคัน และผ่อนคลาย 

“ครัวใบไม้”
เมนูผัดกระเพาเริ่มมีเมื่อไหร่ 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​11 ธันวาคม  พ.ศ. 2567 

 ผัดกะเพราเมนูที่ใครๆ ก็รัก ถือเป็นเมนูอาหารไทยที่หลายคนคุ้นเคย แต่รู้หรือไม่ว่าที่มาของผัดกระเพรานั้นเป็นอย่างไร
ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๗ มีหลักฐานจากจดหมายเหตุของชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนสยามในสมัยอยุธยา กล่าวถึงใบกะเพาว่าเป็นผักที่มีกลิ่นหอมมาก  
สมัยรัชกาลที่ ๗  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผัดกระเพาเริ่มปรากฏในร้านอาหารตามสั่ง โดยได้รับอิทธิพลจากอาหารจีน ที่นำเต้าเจี้ยวดำมาผัดกับกระเทียมเจียว แล้วจึงใส่เนื้อสัตว์ลงไปผัด

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผัดกระเพราได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยมีการดัดแปลงสูตรให้เข้ากับรสชาติของคนไทยมากขึ้น เช่น การใช้น้ำปลาแทนเต้าเจี้ยว

ปัจจุบัน ผัดกระเพาเป็นเมนูที่พบได้ทั่วไปในร้านอาหารไทยทั่วโลก มีการดัดแปลงสูตรและวัตถุดิบให้หลากหลายมากขึ้น รสชาติจัดจ้าน ความเผ็ดร้อนของพริกและความหอมของใบกะเพรา ทำให้ผัดกระเพาเป็นเมนูที่อร่อยถูกปากคนส่วนใหญ่ หาวัตถุดิบได้ไม่ยาก และมีราคาไม่แพง สามารถนำใบกระเพามาผัดกับวัตถุดิบได้หลากหลาย เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ทะเลต่างๆ ทานคู่กับเมนูอะไรก็อร่อย

นอกจากนี้กระเพายังมีสรรพคุณทางยา ที่นำมาใช้บำบัดร่างกายได้มากมายหลายประการ เช่น ช่วยระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น แก้โรคลมจุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในกระเพาะและลำไส้ ลดอาการปวดท้อง ป้องกันหวัด บรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน บำรุงธาตุ มีสารต้านอนุมูลอิสระ

“ครัวใบไม้”
มะกรูด 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​4  พ.ศ. 2567 

มะกรูด เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณมากมาย สามารถนำมาใช้ปรุงรสอาหารให้มีกลิ่นหอมชื่นใจแล้ว และยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำบัดสุขภาพอีกด้วย เมื่อนำมาประกอบอาหารอาหาร จะช่วยเพิ่มกลิ่น และรสสัมผัสที่ดี ใบและผิวของผลมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยกลิ่นหอมสดชื่น ช่วยเพิ่มกลิ่นและรสสัมผัสให้อาหารหลากหลายเมนู เช่น แกงต่างๆ ยำ ผัด ต้มยำ และอีกมากมายหลายหลากเมนู น้ำมันหอมระเหยในมะกรูด ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลายและน้ำย่อย ทำให้ช่วยในการย่อยอาหารได้ดีขึ้น ผิวของลูกมะกรูดช่วยลดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ทำให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้น   
ประโยชน์ในการช่วยบำบัดร่างกาย
น้ำลูกมะกรูดช่วยขับเสมหะ แก้ไอ บรรเทาอาการหวัด
บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องเฟ้อ
ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ลดการอักเสบ และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
ช่วยให้ผมนุ่มสลวย ลดปัญหาผมร่วง และช่วยลดรังแค
ยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยลดไข้ แก้ลมจุกเสียด และช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียด

ดื่มน้ำมะกรูด
ช่วยบรรเทาอาการหวัดและอาการเจ็บคอ
อาบน้ำด้วยน้ำมะกรูด ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและผ่อนคลาย
สระผมด้วยน้ำมะกรูด ช่วยให้ผมนุ่มสลวยและลดปัญหาผมร่วง
ใช้เปลือกลูกมะกรูดขัดผิว ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและทำให้ผิวนวลเนียนผ่องใส

เครื่องดื่มมะกรูด
1.น้ำมะกรูด 1 ผลใหญ่ (ควรเลือกผลมะกรูดที่มีสีเขียวอมเหลือง จะคั้นน้ำได้มาก และไม่ติดรสขม)
2.น้ำผึ้ง 1-2 ชต. (หรือตามความต้องการ)
3.เกลือสีชมพู หรือ เกลือสมุทร ⅛ ชช.
4.น้ำดื่ม 1 แก้ว ประมาณ 200 ml (หากต้องการความซ่า เปลียนน้ำดื่มเป็นโซดาแทน) ผสมทุกอย่างให้เข้ากันดี เติมน้ำแข็งเล็กน้อย ดื่มชื่นใจ 

“ครัวใบไม้”
เมนูอร่อยจากหัวปลาทู 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 

ส่วนใหญ่เมนูอาหารที่ให้ปลาทูเป็นวัตถุดิบหลัก มักจะใช้ปลาทูเป็นตัว เอาไปปิ้ง นึ่ง ทอด ต้ม ถ้ากินเหลือแล้ว ก็จะแกะเอาแต่เนื้อปลานำมาผัดหรือยำ ทำเป็นเมนูใหม่ขึ้นมาอีก ส่วนเครื่องในปลา ถ้าเป็นโรงงานปลาทูนึ่ง จะมีเครื่องในปลาจำนวนมาก เขาก็จะส่งต่อไปโรงงานที่ดองไตปลา แต่เมื่อเราเอาปลาทูมาเป็อาหารในครัวเรือนถ้าเป็นปลาเมนูที่ต้องใช้ปลาทูจำนวนหลายตัว เช่น ต้มยำ หรือ ต้มเค็มหวาน เราก็จะได้หัวปลาทูสดมากพอสมควร พอที่จะนำมาทำกับข้าวเพิ่มเติมได้อีกหนึ่งเมนู

"หัวปลาทูทอดกระเทียม" เราจะนำหัวปลาทูมาแช่ในน้ำที่ใส่เกลือไว้ให้เค็มสักหน่อย เพื่อให้ความเค็มซึมเข้าในหัวปลา ประมาณ 20 นาที ในขณะที่รอก็เตรียมเจียวกระเทียมไว้ ตักแต่กระเทียมขึ้นมาใส่เกลือนิดน้ำตาลหน่อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วพักไว้ ส่วนน้ำมันเราก็เติมน้ำมันใหม่เพิ่มไปเล็กน้อย แล้วเอาหัวปลาทูใส่ลงทอดให้กรอบ ตักขึ้นใส่จาน  นำกระเทียมเจียวที่เตรียมไว้มาโรยหน้าลงบนหัวปลาทูที่ทอดกรอบ บอกเลยว่าอร่อยแบบเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม  

“ครัวใบไม้”
ว่าด้วยเรื่องของข้าวตัง 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 

เชื่อว่าหลายท่าน คงจะรู้จักข้าวตังกันดีอยู่แล้ว และก็คงมีอีกหลายท่าน ที่ยังไม่รู้จัก ข้าวตังแบบจริงๆ เพราะข้าวตัง ที่เราเห็น ในยุคสมัยนี้ เป็นการจัดทำขึ้น จากการเอาข้าวสุกมาอัด หรือ กวนข้าวให้เปียกแล้วนำมาหยอดใส่พิมพ์อบด้วยลมจนแห้ง ทำเป็นแผ่นกลม หรือแผ่นสี่เหลี่ยม ตามความต้องการของท้องตลาด แต่เข้าตังค์แบบดั้งเดิมตามฉบับโบราณนั้น จะนำข้าวสุกที่ติดก้นหม้อ มาตากแดดจนแห้ง แล้วจึงนำไปเก็บไว้ประกอบอาหาร จะเป็นเครื่องเคียงอาหารคาว อาหารว่าง หรืออาหารหวาน ได้หลากหลายเมนู เช่น ขนมนางเล็ด ข้าวตังหน้าตั้ง ข้าวตังเมี่ยงลาว ข้าวตังหัวหงอกฯ ยังเป็นเครื่องเคียงสำหรับแนมกับแกงคั่ว และยำต่างๆ

มีเมนูอาหารคาวที่คนสมัยนี้น่าจะรู้จักกันน้อยมาก เช่น ก๋วยเตี๋ยวมอญ หรือแกงข้าวตัง ที่จะทำน้ำซุปเหมือนก๋วยเตี๋ยว มีเครื่องต่างๆที่เป็นเนื้อสัตว์เช่นเนื้อหมูเนื้อไก่ เนื้อปลาหมึก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ โรยด้วยกระเทียมเจียวแผ่น หอมเจียว และตั้งฉ่าย เวลาทาน ก็จะใช้ ข้าวตังที่ทอดกรอบแล้ว ใส่ไว้ด้านบน ของเครื่องและน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว เป็นเมนูที่ต้อง ทานเร็ว ห้ามช้าเพราะถ้าไม่อย่างนั้นข้าวตังจะอืดและไม่อร่อย

ยังมีเครื่องดื่มอีกเมนูหนึ่งที่คนสมัยก่อน มักชอบทำถวายพระ เป็นน้ำปานะ คือน้ำมะตูมใส่ข้าวตังปิ้ง สมัยก่อนเวลาจะต้มน้ำมะตูมต้องเอามะตูมไปปิ้งไฟให้หอมๆก่อน จึงตั้งน้ำ แล้วใส่มะตูมลงไป เคี่ยวให้สีมะตูมออก จนน้ำเริ่มเป็นสีชา จึงใส่น้ำตาลให้แค่พอมีรสหวานอ่อนๆ แล้วจึงใส่ข้าวตังที่ปิ้งจนหอมแล้วลงไป ค่อยยกขึ้นจากเตา การทำน้ำมะตูมวิธีนี้ จะทำให้น้ำมะตูม มีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น เมื่อได้ดื่มแล้วจะมีความชื่นใจ และทำให้นอนหลับสบาย จึงนิยมนำไปถวายพระ ให้ฉันเป็นน้ำปานะ 

“ครัวใบไม้”
ข้าวหยำปลาทู 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 

นึกถึงสมัยเด็กที่เราชอบกินข้าวขยำกับปลาทูทอด ใส่น้ำปลาเข้าไปคลุกด้วย ให้แค่มีรสชาติพอเค็มๆ ก็กินข้าวขูดถ้วยขูดชามกันเลยทีเดียว พอโตขึ้นหน่อยก็เริ่มจะกินเผ็ดได้ เวลาจะกินข้าวขยำปลาทูทอด นอกจากจะใส่น้ำปลาแล้ว ก็ยังมีการแต่งรสชาติเพิ่มเติม คือใส่หัวหอมแดงซอย และพริกขี้หนูหอมซอย แล้วก็บีบมะนาวตามลงไปเล็กน้อย ชิมรส เปรี้ยว เค็ม เผ็ด เอาตามความต้องการ กินคู่กับผักสดที่เก็บจากสวนครัวหลังบ้าน เช่น แตงกวา ผักชี หรือผักอะไรก็ได้ที่กินสดได้ และมีรสชาติที่เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็เป็นอาหารมื้ออร่อยเกินพรรณนาแล้ว

ทำข้าวหยำปลาทูกัน 
ข้าวสวยร้อนๆ 1 จาน ประมาณ 200 กรัม ปลาทูทอดแกะเอาแต่เนื้อ 1 ตัว ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ หัวหอมแดงไทยซอยตามขวาง 2-3 หัวหรือแล้วแต่ความชอบ (ที่ต้องซอยตามขวางเพราะจะเคี้ยวขาดง่ายไม่คาวคอ) พริกขี้หนูหอมซอย 5-9 เม็ด หรือตามความต้องการ (คือพริกขี้หนูสวน)  น้ำปลาดี 2 ช้อน  น้ำมะนาวสด 1 ช้อน  ใส่ทุกอย่างลงผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน กินคู่กับผักสดที่ชอบ บอกเลยว่าอร่อยเหาะ 

“ครัวใบไม้”
ปลาเผา

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​30 ตุลาคม พ.ศ. 2567 

เนื้อของปลานั้นใครๆก็รู้ดีว่าอุดมไปด้วยโปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆซึ่งร่างกายของเราต้องการ ปลายังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย

วิธีการที่จะกินปลาให้ได้รสชาติอร่อยและดีต่อสุขภาพนั้น นักกินปลาระดับมืออาชีพจะไม่ยอมให้นำปลาสดๆไปทอดอย่างเด็ดขาด เพราะส่วนมากปลาที่ร้านนำไปทอดนั้นตัวปลามักจะไม่ค่อยสดต้องใช้นำ้มันทอดช่วยให้มีรสชาติดีขึ้น ต้องนำปลาไป ลวก นึ่ง เผา ต้มหรือเจี๋ยน เท่านั้น     วันนี้ขอแนะนำการนำปลาสดๆไปเผาด้วยฝีมือของตัวเองครับ

เริ่มตั้งแต่ไปเลือกหาซื้อปลาสดๆในตลาดหรือห้างสรรพสินค้าเลือกปลาที่ตาใสๆเหงือกแดงๆจะเลือกปลากะพงก็ได้ ให้พนักงานขายผ่าท้องล้วงไส้ออกอย่างเดียว ไม่ต้องขอดเกล็ด ไม่ต้องบั้ง

นำเกลือมาใส่ถาดขนาดใหญ่กว่าตัวปลานำปลาที่ล้างสะอาดแล้วลงไปเคล้าแต่ต้องมีเทคนิคนิดหนึ่งคือต้องลูบเกลือให้ย้อนเกล็ดปลาแล้วคลุกเกลือให้ทั่วตัวปลา ส่วนด้านท้องของปลาก็นำตะไคร้ต้นเขืองๆทุบนิดหน่อยหักเป็นทบๆใส่ลงไปในปากปลาเพื่อช่วยดับคาวและยังได้ความหอมอีกด้วย

แต่ถ้าจะทำให้หรูหราและอร่อยมากขึ้นก็นำ ใบเตย ตะไคร้อ่อนๆ ใบมะกรูด รากผักชี กระเทียม เนยหั่นละเอียดปั่นรวมกันใส่ไว้ในปากปลานอกจากจะทำให้มีกลิ่นหอมช่วยดับคาวแล้วยังเป็นสมุนไพรชั้นดีที่กินได้อีกด้วย 

นำฟอยล์ไปห่อตัวปลาให้มิดมีสูตรเคล็ดลับอยู่ว่า ปลากะพงนำ้หนัก 8ขีดย่างบนเตาถ่านไฟอ่อนๆจะใช้เวลาย่างด้านละ 25นาทีแล้วจึงพลิกกลับอีกด้านใช้เวลา25นาทีเหมือนกัน ระหว่างที่รอปลาสุกก็ทำนำ้จิ้มปลาจะทำแบบใดก็แล้วแต่ใจชอบที่จะขอแนะนำคือใช้ พริกขี้หนูสวน กระเทียม รากผักชี มะนาว เกลือปั่นให้เข้ากันเหยาะนำ้เชื่อมลงไปสักนิดก็ยังได้ ที่นี้แหละครับเมือปลาสุกดีแล้วแกะฟอยล์ที่ห่อตัวปลาออกแกะเกล็ดปลาที่แยกจากเนื้อปลาเพราะความร้อนออกจะเห็นเนื้อปลาขาวๆ ชุ่มฉ่ำ ตักเนื้อปลามาใส่จานราดด้วยนำ้จิ้มแซ่บๆที่ทำเอง จะอร่อยจนบรรยายไม่ถูกเชียว 

“ครัวใบไม้”
แกงส้มดอกแคกินตอนไหนดี 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​16 ตุลาคม พ.ศ. 2567 

เมนูนี้เหมาะกับช่วงเปลี่ยนฤดู จากปลายร้อนไปต้นฝน และจากปลายฝนไปต้นหนาว เพราะเมื่ออากาศเปลี่ยน ร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน ก็จะเกิดเจ็บป่วยเป็นไข้หัวลม คือไข้ที่เป็นในช่วงฤดูกาลเปลี่ยนแปลง คนไทยสมัยก่อนก็จะใช้พืชผัก สมุนไพรต่างๆ มาประกอบอาหารเพื่อให้เป็นยาไปในตัว เช่น แกงส้มดอกแคนี้
 
ดอกแค ช่วยลดอาการอักเสบ ปรับความดันโลหิต ทำให้เลือดลมเดินสะดวก หัวหอมแดง แก้หวัดคัดจมูก ขับเสมหะ ทำให้ปอดแข็งแรงหายใจได้โล่งสะดวก  กระชาย ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงตับและไต บำรุงกำลัง ทำให้ฟื้นตัวจากไข้ได้เร็ว มะขามเปียก ช่วยรักษาอาการไอ ขับเสมหะ ต้านอนุมูลอิสระ พริกแห้ง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี ช่วยเผาผลาญ เจริญอาหาร รวมสรรคุณสมุนไพรเหล่านี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นเมนูอาหารที่อร่อยเข้มข้นกลมกล่อม เป็นได้ทั้งอาหารและยา 

“ครัวใบไม้”
ยำกลีบดอกไม้

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 

ก่อนอื่นหาดอกที่ไม้กินได้ที่มีอยู่รอบๆ บ้านก่อน กะให้ได้ประมาณหนึ่งจาน ไม่ต้องไปซื้อจะได้ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง ล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยเก็บใส่กล่องปิดฝาให้มิดชิดเข้าตู้เย็นรอใว้ แล้วจึงเตรียมเครื่องยำ มีมะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่วป่น หอมแดงเจียว หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย กะทิ น้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ อย่างละประมาณหนึ่งช้อนพอ ๆ กัน ผสมน้ำมะนาว น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา กระทิ ให้เข้ากันก่อน ชิมรสตามความชอบแล้วจึงใส่กลีบดอกไม้และเครื่องทุกอย่างลงไป คนเบา ๆ มือ กลีบดอกไม้จะได้ไม่ช้ำมากเพื่อให้ดูน่ากิน ตักใส่จานโรยหน้าด้วยหอมแดงเจียว งาขาวคั่ว และพริกขี้หนูทอด จัดเป็นอาหารว่างที่ทั้งสวยงาม อร่อยกลมกล่อม ดีต่อสุขภาพอีกด้วย  

“ครัวใบไม้”
ดอกไม้กินดีมีประโยชน์ 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​1 ตุลาคม พ.ศ. 2567 

ดอกไม้กินได้มีมากมายหลายชนิด บางชนิดก็พบเห็นบ่อยแล้วก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่านำมาทำอาหารได้ เช่น ดอกอัญชัน ดอกโสน ดอกแค ดอกขจร ดอกผักปัง ดอกกระเจียว ดอกกระเจี๊ยบ ดอกพวงชมพู ดอกขี้เหล็ก ฯ แต่ก็ยังมีอีกมากชนิดที่หลายท่านยังไม่ทราบว่านำมากินได้ เช่น ดอกดาหลา ดอกกระทือ ดอกแคป่า ดอกเฟื่องฟ้า ดอกเข็ม ดอกเบญจมาศ ดอกกุหลาบ ดอกดิน ดอกงิ้ว ดอกบัว ดอกมะรุม ดอกชงโค ดอกคูณ ฯลฯ ดอกไม้แต่ละชนิด แต่ละสี ก็มีสรรพคุณที่ต่างกัน และดีต่อสุขภาพ ไหนๆ พูดถึงดอกไม้แล้วก็จะฝากเมนูอาหารจากดอกไม้ใว้สักเมนูนึง 

“ครัวใบไม้”
จิบชาดอกปีบ

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​25 กันยายน พ.ศ. 2567 

ช่วยขับเลือดลม บรรเทาอาการหอบหืด หลายท่านคงจะรู้จักดอกปีบกันบ้างแล้ว ตามถนนหนทางบางสาย หรือบางบ้านก็มีปลูกใว้ เป็นไม้ยืนต้น ขนาดพอๆ กับต้นมะขาม

ดอกสีขาวเมื่อบานเต็มที่ความกว้างหน้าดอกจะประมาณดอกมะลิ แต่โคนกลีบดอกยาวประมาณสามนิ้ว มีกลิ่นหอมมาก เวลาจะนำมาใช้ก็เก็บดอกที่ร่วงอยู่โคนต้น เลือกเก็บแต่ดอกที่ยังสดและสมบูรณ์ นำมาล้างให้สะอาด ใส่ถาดหรือกระด้ง กระจายดอกให้ทั่ว ตากลมในที่โล่ง คอยเขี่ยกลับข้าง เมื่อแห้งสนิทแล้ว ตั้งกระทะบนเตา เปิดไฟให้อ่อนที่สุด คั่วเบาๆมือจนร้อนปิดไฟ เป็นการฆ่าเชื้อโรค ทิ้งใว้ให้เย็นจึงเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิด

เวลาใช้ชงชา กะประมาณ 4-5 ดอกต่อน้ำร้อน 500 ml ชงใส่กาน้ำชาจิบอุ่นๆจะช่วยให้ผ่อนคลาย จิตใจแจ่มใส มีกลิ่นหอมมาก ช่วยขับเลือดลม บรรเทาอาการมึนศรีษะ บรรเทาอาการหอบหืด สามารถชงร่วมกับใบชาหรือดอกไม้แห้งชงชาชนิดอื่นๆได้ เช่น มะลิ กุหลาบ เก๊กฮวย ยิ่งทำให้หอมสดชื่น และเพิ่มสรรพคุณจากดอกไม้ต่างๆ อีกด้วย 

“ครัวใบไม้”
การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​18 กันยายน พ.ศ. 2567 

น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นเดี๋ยวนี้ ส่วนใหญ่เขาจะแต่กลิ่นกันให้หอมเพราะถ้าเก็บนานเกิน 2 สัปดาห์จะมีกลิ่นหืน ถ้าทำเพื่อการค้าก็ต้องทำให้เก็บได้นานโดยที่กลิ่นยังคงเดิมอยู่ จึงมีการแต่งกลิ่นให้หอมกลิ่นมะพร้าวมากขึ้น แต่ถ้าเราทำใช้เองก็เก็บใส่ตู้เย็นเวลาเอาออกมาก็จะเป็นไข แต่วางใว้ในอุณหภูมิปกติ ใช้เวลาไม่นานก็จะละลาย จึงค่อยแบ่งออกใช้ทีละน้อย ทีเหลือก็สามารถเก็บในตู้เย็นได้อีกนาน  
 
ขั้นตอนแรกก็เอามะพร้าวขูดมานึ่งให้พอร้อนให้ทั่วถึงกันก่อน ไม่ต้องนึ่งนานจะได้ไม่เสียวิตามิน ขั้นตอนนี้ทำเพื่อฆ่าเชื้อโรค จะทำให้น้ำมันไม่มีกลิ่นสาบง่าย ใช้เนื้อมะพร้าว1กิโลต่อน้ำอุ่น 1½ กิโล โดยแบ่งน้ำให้เป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนแรกใช้คั้นให้เป็นส่วนของหัว ใส่น้ำส่วนแรกลงในมะพร้าวนวดคั้นไปเรื่อยๆจนรู้สึกว่ามะพร้าวน่วมมือ แล้วกรองเอาแต่น้ำกะทิเก็บใว้ก่อน ส่วนมะพร้าวก็ใส่น้ำส่วนที่ 2 ลงไปนวดพอประมาณ เป็นการคั้นเอาส่วนหาง เมื่อคั้นพอแล้วก็เอาไปกรองเอาแต่น้ำ บีบเนื้อมะพร้าวเอาน้ำออกให้มากที่สุด ทิ้งกากมะพร้าวไป เทส่วนหัวและหางผสมกันใส่ในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดสนิท เทแล้วให้มีพื้นที่ว่างเหลือ ⅓ ของภาชนะ วางไว้ในที่อุณหภูมิของห้องและไม่โดนแดด เป็นเวลา3วันจะมีน้ำมันมะพร้าวลอยอยู่ด้านบน ค่อยๆช้อนเอาน้ำมันออกเก็บใส่ภาชนะแช่ตู้เย็นใว้แบ่งใช้ทีละหน่อย ส่วนน้ำที่เหลือก็ทิ้งไปหรือจะเอาไปรดน้ำต้นไม้ก็ได้

“ครัวใบไม้”
มะขามป้อมดอง มะขามป้อมแช่อิ่ม 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​04 กันยายน พ.ศ. 2567 

มะขามป้อมดอง 
1.มะขามป้อม 1 กก 
2.น้ำดื่ม 1 ½ กก 
3.เกลือสมุทรหรือเกลือหิมาลายัน 24 กรัม 
 
ล้างมะขามป้อมให้สะอาดพักใว้ ใส่เกลืองลงในน้ำที่เตรียมใว้ คนให้เกลือละลายให้หมด ใส่มะขามป้อมที่เตรียมใว้ลงในภาชนะที่จะใช้ดอง เทน้ำเกลือที่ละลายใว้ใส่ลงไป ปิดฝาภาชนะให้สนิท ดองใว้ 5-7วัน จึงนำมารับประทานได้ ใน 3 วันแรก ให้เปิดฝาแล้วปิดใหม่เหมือนเดิมเป็นการระบายอากาศ
 
มะขามป้อมแช่อิ่ม 
1.มะขามป้อมดองแล้ว 1 กก 
2.น้ำตาลทราย ½ กก 3.น้ำเปล่า ½ กก 
4.เกลือสมุทรหรือเกลือหิมาลายัน 10 กรัม  

ผ่ามะขามป้อมดองแคะเอาเม็ดออกพักใว้ ใส่น้ำตาล น้ำเปล่า และเกลือลงในหม้อ คนให้ละลายเข้ากันดี แล้วนำไปต้มให้เดือด ปิดไฟพักให้น้ำเชื่อมอุ่นๆจึงเทใส่ภาชนะที่เตรียมใว้ ใส่มะขามป้อมแช่ลงไปในน้ำเชื่อม ปิดฝาพักใว้ 1 คืน จึงนำมารับประทานได้ 
 
สรรพคุณมะขามป้อม มะขามป้อมมีวิตามินซีสูงมากกว่าผลไม้อื่นๆหลายชนิด เนื่องจากมีสารแทนนินและโพลิฟีนอลที่ช่วยป้องกันไม่ให้วิตามินซีสลายตัว และทำให้วิตามินซีคงตัวได้นานขึ้น หากรู้สึกกระหายน้ำ การรับประทานมะขามป้อมสดจะช่วยลดอาการกระหายน้ำได้ และหากดื่มน้ำเปล่าตามลงไป ยิ่งจะทำให้ชุ่มคอมากขึ้น ในมะขามป้อมมีสารแทนนินและ   มีวิตามินซีสูง รสเปรี้ยวของมะขามป้อมสามารถละลายเสมหะได้เป็นอย่างดี สมัยโบราณมีการนำมะขามป้อมไปคั้นน้ำดื่ม หรือนำมาอมกับเกลือ นอกจากลดอาการเจ็บคอได้แล้ว ยังทำให้ชุ่มคอ เสียงใส และป้องกันเสียงแห้งได้อีกด้วย วิตามินซีและสารแทนนินที่มีอยู่สูงในมะขามป้อม มีส่วนช่วยส่งเสริมระบบการทำงานของร่างกาย เมื่อเริ่มรู้สึกไม่สบายให้นำมะขามป้อมมาคั้นน้ำดื่ม เนื่องจากมะขามป้อมเป็นยาเย็นจึงช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ 

“ครัวใบไม้”
กล้วยทอด

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​28 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

หน้านี้กล้วยนำ้ว้ามีราคาแพงมาก คงเป็นสาเหตุจากความร้อนแล้ง ผลผลิตกล้วยจึงออกมาน้อย แต่ก็เกิดความอยากกิน กล้วยทอด ขึ้นมาพอดี จึงขอสูตรการทำกล้วยทอดให้อร่อยจากเชฟไก่ที่มีวิธีการทำกล้วยทอดที่ไม่เหมือนใคร มีเทคนิคพิเศษที่ทำให้ทอดกล้วยได้กรอบนานขึ้น
 
เริ่มจากกล้วยนำ้ว้าซึ่งเป็นนางเอกของกล้วยแขกหรือกล้วยทอดนั้นสำคัญต่อความอร่อยเป็นอย่างมาก ต้องเลือกกล้วยชนิดที่ต้องแก่จัด สุกตามธรรมชาติไม่เร่งต้องให้สุกพอดีไม่ห่ามไปไม่สุกเกิน 

การตัดกล้วยก็สำคัญต้องตัดให้ดี เวลาที่ปอกเปลือกก็ต้องระวังอย่าให้ยางกล้วยติดมีดจะทำให้กล้วยฝาดมีสาบมีด ไม่อร่อยและถ้าเป็นไปได้ควรจะฝานกล้วยที่จะทอดคนเดียวไม่อย่างนั้นจะได้กล้วยที่หนาไม่เท่ากัน เวลาที่ทอดก็จะสุกกรอบไม่ทั่วกันทุกชิ้น มีผลต่อความกรอบนานของกล้วย 

แป้งที่จะนำมาชุบกล้วยทอดนั้นจะผสมระหว่าง3แป้งคือ แป้งมัน แป้งข้าวเจ้าและแป้งสาลี เมื่อใส่นำ้ผสมจนได้ความข้นของแป้งที่ต้องเคลือบชิ้นของกล้วยพอดี ไม่หนาไป ไม่บางไปและที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ไฟ ความแรงของไฟที่ทอดต้องปรับในระหว่างที่ทอดถึง 3ระดับ ตั้งแต่ตอนนำชิ้นกล้วยลงกระทะต้องใช้ไฟกลางระหว่างที่กล้วยฟูใช้ไฟกลางค่อนข้างอ่อนเพื่อให้สีสวยและก่อนจะตักลงใช้ไฟแรงเพื่อคอนโทรลนำ้มันไม่ให้ไหลกลับเข้าไปในเนื้อแป้งมีผลต่อความกรอบอร่อยของกล้วยแขกโดยไม่ต้องใช้เครื่องสะบัดน้ำมันเลย
 
ทางที่ดีถ้าคิดว่าจะหาแป้ง3ชนิดลำบากและไม่ทราบว่าจะผสมแป้งอย่างไร ขอแนะนำให้ไปซื้อแป้งทอดกล้วยแขกของบริษัท ปุ้ยเก่ง (ไม่ได้รับเงินโฆษณา)มีวิธีการทอดอยู่ข้างๆถุงแป้งนำแป้งมาละลายน้ำที่เย็นจัดแล้วนำกล้วยลงไปชุบแป้งทอดก็จะได้ กล้วยแขก ที่รสชาติอร่อย แป้งที่เหลือยังเก็บไว้ทอดอีกหลายครั้งแป้งของปุ้ยเก่งมีขายที่แมคโครครับ   

“ครัวใบไม้”
เรื่องของมะขาม

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามะขามเป็นพืชที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น เริ่มต้นจาก

"ใบ" รสเปรี้ยวฝาด ใบอ่อนใช้ทำอาหารเมนูเลิศรสได้หลากหลายเมนู เช่น ต้มยำใส่ยอดมะขาม แกงคั่วส้มยอดมะขาม ปลาเค็มต้มกะทิใส่ใบมะขามฯลฯ ยิ่งนึกถึงก็ทำให้น้ำลายสอกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาอีกมากมายหลายอย่าง เช่น ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้โรคบิด ฟอกโลหิต ขับลมในลำไส้ รักษาหวัด ขับเหงื่อ เป็นยาระบาย แก้ตามัว นำมาต้มเอาน้ำโกรกศรีษะแก้หวัดคัดจมูก

"ผล" หรือฝัก มะขามมีหลายสารพันธุ์ แต่ที่แยกกันได้ชัดเจน คือมะขามเปรี้ยวและมะขามหวาน มะขามหวานส่วนใหญ่จะนิยมทานเป็นอาหารว่าง ไม่นิยมนำมาปรุงเพิ่มเติม แต่ถ้าเป็นมะขามเปรี้ยวก็จะนิยมนำมาปรุงทั้งเมนูคาว และหวาน สำหรับเมนูคาวก็เน้นเป็นเครื่องปรุงเพิ่มรสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ต้มส้ม หลน น้ำพริก และเครื่องจิ้มต่างๆ เมนูหวานก็มักจะเอามากวนกับกะทิ กวนกับกล้วย กวนกับขิง กวนเป็นมะขามแก้วและอีกหลายเมนูตามแต่ตำรับบ้านใคร มีสรรพคุณทางยา ช่วยฟอกโลหิต เป็นยาระบาย ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย บรรเทาอาการไข้ แก้ท้องผูก ขับเสมหะ แก้ไอ กระหายน้ำ ฟอกโลหิตสตรีหลังคลอด

"เมล็ด" มีรสมัน คนสมัยก่อนจะนำมาคั่วจนสุกใช้เป็นของขบเคี้ยว หรือนำมาคั่วผสมกับเมล็ดกาแฟสายพันธุ์พื้นเมืองเพื่อให้มีกลิ่มหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้น สรรพคุณทางยา ช่วยขับพยาธิไส้เดือนในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้อาเจียน บำรุงกำลัง สมานแผลที่ปาก คอ และลิ้น

"เปลือกต้น" ไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร รสฝาดเมาร้อน สรรพคุณทางยา นำเปลือกต้นมาทุบต้มกับน้ำ ใช้กลั้วปากแก้เหงือกบวม ฆ่าแมลงกินฟัน นำมาทาผิวฆ่าพยาธิผิวหนัง 

"แก่น" และลำต้น รสฝาดเมาไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร แต่นิยมนำมาทำเขียงหั่นอาหาร สรรพคุณทางยา นำมาเป็นส่วนผสมยาต้ม รักษาฝีในมดลูก เป็นยาชักมดลูกให้เข้าอู่

"ราก" รสฝาดไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร สรรพคุณทางยา นำมาเป็นส่วนผสมยาต้ม แก้ท้องร่วง สมานแผล รักษาเริม และงูสวัด 

“ครัวใบไม้”
พริกหยวกกับพริกหนุ่ม

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

หลายท่านมักจะเข้าใจว่าพริกหยวกและพริกหนุ่มเป็นพริกชนิดเดียวกัน แต่จริงแท้แล้วเป็นคนละสายพันธุ์กันเลย
"พริกหยวก"จะมีลักษณะโคนป้อมอวบ ปลายแหลม มีความยาวไม่มาก ประมาณ 4-6 นิ้ว มีสีเขียวคล้ายใบตองอ่อน เนื้อของพริกจะมีรสสัมผัสหอมกลมกล่อมไม่เผ็ด นำมาผัดกับหมู ไก่ หรือกุ้ง เป็นเมนูผัดพริกหยวก หรือเอามาทำพริกหยวกยัดไส้ ซึ่งเมนูนี้ก็สามารถนำมาแตกออกได้อีกหลายเมนู ส่วน"พริกหนุ่ม"เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่ง มีลักษณะเม็ดเรียวโคนป่องเล็กน้อย ปลายแหลมมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว รูปทรงตรงบ้าง โค้งงอบิดเบี้ยวบ้าง มีสีเขียวอ่อนแต่จะสีเข้มกว่าพริกหยวก และมีรสชาติที่เผ็ดกว่าพริกหยวก นิยมนำมาทำเป็นน้ำพริกเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะน้ำพริกหนุ่มของชาวเหนือ 

“ครัวใบไม้”
เมนูอาหารแก้ไข้หวัด

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

ช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ฝนจึงตกแทบจะทุกวัน บางพื้นที่น้ำฝนระบายไม่ทันทำให้เกิดนำ้ท่วมถนนหนทาง การสัญจรไปมาลำบากเพราะรถติด โรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับฤดูฝนก็คือ ไข้หวัด วันนี้จะแนะนำเมนูอาหารแก้ไข้หวัดคือ ต้มจืดใบกะเพรา สมุนไพรชั้นเยี่ยมของเรา
 
วิธีทำ เริ่มต้นด้วยการนำใบกะเพรามาล้างให้สะอาดเด็ดเอาแต่ใบถ้ามีดอกอ่อนๆก็เด็ดใส่ไปด้วยเตรียมเอาไว้ นำกุ้งสดแกะเปลือกดึงเส้นดำด้านหลังกุ้งออกสับพร้อมกับหมูให้ละเอียดระหว่างที่สับโรยด้วยพริกไทย และเหยาะซีอิ๊วขาวลงไปด้วย เปิดไฟตั้งหม้อนำ้ให้นำ้เดือดพล่านตักกุ้งสับ-หมูสับใส่ลงไปจะทำให้นำ้ซุปหวานโดยไม่ต้องใส่เครื่องปรุงรสใดๆทั้งสิ้น รอจนนำ้เดือดอีกครั้งโรยด้วยเกลือป่นลงไปเล็กน้อยเพื่อดึงรสชาติให้เข้มข้น หรี่ไฟลงใส่ใบกะเพราที่เตียมไว้ลงไปเร่งไฟเเรงอีกครั้งแล้วปิดไฟ เตรียมตักเสิร์ฟร้อนๆได้เลย เวลาตักชิมจะรู้สึกว่า คล่องคอ ชื่นใจมาก เมนูนี้ทำง่ายแสนง่ายและยังได้ประโยชน์ต่อร่างกายในการแก้ไข้หวัดอีกด้วยครับ 

“ครัวใบไม้”
ผักบุ้งแดง

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​7 สิงหาคม พ.ศ. 2567 

วันนี้มาเล่าเรื่องผักบุ้งแดงกัน สมัยก่อนคนจะเรียกว่าผักบุ้งนากันเสียส่วนใหญ่ นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ผัดกับพริกกระเทียมและเต้าเจี้ยว ผัดน้ำมันเฉยๆแล้วราดด้วยหัวกะทิเอาใว้เป็นผักเหมือดเครื่องแนมกับน้ำพริกกะปิ แกงส้มกับปลาสด หรือนำมาหั่นเฉียงๆบางๆแช่น้ำให้กรอบ แล้วนำมายำกับกะทิ ใส่พริกขี้นูแห้งทอด หอมเจียว ปรุงรสชาติให้ได้สามรสคลุกเคล้าให้เข้ากัน รสชาติจะคล้ายๆกับยำถั่วพลู นำมาต้มกับน้ำตาลแดงเป็นเครื่องดืมก็มีรสชาติดี แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยถอนพิษเมาเบื่อ หรือกินอาหารผิดสำแดง

ปัจจุบันนี้คนรู้จักผักบุ้งแดงแค่ว่า นำมาเป็นผักแนมกับส้มตำ เหตุที่เมนูอาหารจากผักบุ้งแดงหายไป อาจเป็นเพราะว่าผักบุ้งแดงเมื่อเวลานำไปประกอบอาหารและผ่านความร้อนจนสุก จะมีสีดำคล้ำไม่สวย ไม่น่าทาน จริงๆแล้วผักบุ้งแดงเป็นผักที่มีคุนค่าทางอาหารสูง มีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ อุดมด้วยฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินซี แคลเซียม และธาตุเหล็ก ผักบุ้งแดงมีฤทธิ์เย็น ช่วยปรับความดันโลหิต บำรุงสายตา บำรุงประสาท บำรุงไต ลดอาการปวดมึนศีรษะ ลดอาการตาฝ้าฟาง รู้อย่างนี้แล้วเรามาใช้ผักบุ้งแดงรังสรรค์เมนูอาหารที่ดีต่อสุขภาพกันดีกว่า

“ครัวใบไม้”
แกงเลียง

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​31 กรกฏาคม พ.ศ. 2567 

เชื่อว่าหลายท่านก็รู้จักแกงเลียงกันดีอยู่แล้ว ว่ามีรสชาติและรูปลักษณ์ ที่มีผักสมุนไพรหลากหลายชนิดใส่ลงไป แล้วแต่ความชอบ และหนึ่งในผักนั้นต้องมีใบแมงลักด้วย

ทราบไหมว่า "เครื่องแกง" ของแกงเลียงมีอะไรบ้าง และประโยชน์การทานแกงเลียงที่แท้จริงคืออะไร "เครื่องแกงแกงเลียง" เนื่องจากแกงเลียงเป็นเมนูแรกๆของแกงไทย จึงมีเครื่องสมุนไพรไม่มากชนิดนัก

อันดับแรก คือ "พริกไทยล่อน" มาถึงตรงนี้ก็อยากจะเท้าความ เล่าถึงเรื่องพริกไทยล่อนว่าทำไม่จึงเรียกแบบนี้ เพราะคนสมัยก่อนจะใช้เม็ดพริกไทยที่สุกจัดจนมีสีออกเหลืองๆ ส้มๆ แล้วเอามาแช่น้ำหลายวันเพื่อให้เนื้อที่หุ้มเมล็ดอยู่ล่อนออก แล้วล้างให้สะอาจผึ่งลมจนแห้งสนิทจึงเก็บเอาใว้ปรุงอาหารและยา หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พริกไทยขาว

อันดับที่ 2 คือ "หัวหอมแดง" จะต้องเป็นหอมแดงไทยเท่านั้นจึงจะได้สรรพคุณอย่างที่ต้องการ ตัวนี้ช่วยลดอาการแพ้อากาศ คัดจมูก

อันดับที่ 3 คือ "กระชาย"กระชายนี่ก็มีเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาฝากเหมือนกัน คือปัจจุบันนี้เวลาที่นำกระชายมาปรุงเครื่องแกงต่างๆ หรือนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร มักจะใช้เฉพาะนมกระชายกันอย่างเดียวไม่ใช้เหง้าด้วย คงจะสงสัยกันแล้วใช่ไหมว่าส่วนไหนคือนม และส่วนไหนคือเหง้า นมกระชายก็คือส่วนที่เป็นแท่งเหมือนดินสอ ส่วนเหง้าคือส่วนที่เป็นหัวๆ ลูกๆ ที่ติดกันอยู่นั่นแหละ สมัยก่อนจะใช้นมกระชายเก้าส่วนต่อเหง้ากระชายหนึ่งส่วน เพื่อให้ได้สรรพคุณครบถ้วน เหตุผลที่ใส่เห้งาน้อยกว่าเพราะตรงส่วนนี้มีรสออกเผ็ดขม ถ้าใส่มากไปจะทำให้อาหารออกขมได้   

อันดับที่ 4 คือ "รากผักชี" อันนี้จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ แต่ถ้าใส่ก็จะทำให้เครื่องแกงหอมขึ้น

อันดับที่ 5 คือ "กะปิ" ส่วนนี้ใส่เพื่อให้เกิดความกลมกล่อมในรสชาติของน้ำแกงเลียง

ส่วนตำรับบ้านไหนจะเพิ่มเนื้อปลากรอบ หรือจะเป็นเนื้อกุ้งแห้งโขลก ใส่ลงไปในน้ำแกงเพื่อให้มีความข้น และความเชงก็ยิ่งทำให้มีมิติของรสชาติเพิ่มขึ้น และนอกจากการผสมผสานโนน่นี่นั่น เพื่อให้เกิดความอร่อยกลมกล่อม แกงเลียงยังเป็นเมนูอาหารที่ใช้เรียกน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอดอีกด้วย เพราะเหตุนี้แกงเลียงจึงเน้นที่จะใส่กระชายทั้งส่วนนมกระชายเพื่อบำรุงกำลัง และใส่เหง้ากระชายเพื่อบำรุงมดลูก ใส่ใบแมงลัก และพริกไทยล่อนเพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม ขับลมในกระเพาะ และลำไส้ให้ได้ทั้งตัวคุณแม่ และทารกน้อย ข้อสำคัญแกงนี้ห้ามใส่ทั้งพริกขี้หนูหรือพริกชี้ฟ้าเป็นอันขาด เพราะแสลงกระเพาะและลำไส้ อาจทำให้คุณแม่ปวดท้อง และทำให้ทารกที่ดื่มนมคุณแม่ท้องเสียได้

มีคำเปรียบเปรยจากผู้หลักผู้ใหญ่ กินแกงเลียงเพื่อเผ็ดร้อนไม่ใช่เผ็ดลิ้น หมายถึงต้องเผ็ดร้อนจากพริกไทย ไม่ใช่เผ็ดลิ้นจากพริกขี้หนูหรือพริกชี้ฟ้า 

“ครัวใบไม้”
 เทคนิคการหุงข้าว 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

โดยทั่วๆ ไปคนที่หุงข้าวกินเองก็จะมีเทคนิคของตัวเองหรือได้รับการถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ บางสูตรก็ให้ใช้น้ำ 1 ข้อนิ้วบางสูตรก็ให้ท่วมหลังฝ่ามือ แต่ปัญหาก็คือ มือของแต่ละคน ความหนาบางใหญ่เล็กไม่เท่ากัน วันนี้มีเทคนิคง่ายๆมา บอก เวลาที่จะหุงข้าวก็ใช้ถ้วยที่ตวงข้าวนั่นแหละมาตวงนำ้ ถ้าใช้ข้าวสาร 1ถ้วยก็ใช้น้ำ 1 ถ้วยครึ่งถ้าใช้ข้าวสาร 2ถ้วยก็ใช้น้ำ 3 ถ้วย คือใช้ข้าวสารหนึ่งส่วนต่อน้ำหนึ่งส่วนครึ่ง ข้อสำคัญก็คือ ก่อนใส่น้ำเพื่อหุงข้าว ต้องล้างข้าวสารให้สะอาดแล้วรินน้ำที่ล้างข้าวออกให้หมด เพราะถ้ารินน้ำล้างข้าวสารออกไม่หมด จะทำให้ข้าวแฉะได้

“ครัวใบไม้”
ยำทวาย

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​19 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

“ครัวใบไม้”
 เทคนิคการหุงข้าว 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​26 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

เป็นยำไทยรามัญที่อร่อยและดีต่อสุขภาพ เป็นยำที่ใช้ผักต่างๆเป็นตัวหลัก เช่น ผักบุ้งขาว พริกหยวก หัวปลี มะเขือยาว หน่อไม้และผักอื่นๆที่หาได้ทั่วไปอีกหลายชนิดตามที่เราชอบ โดยการนำผักทุกอย่างมาหั่นเป็นเส้นยาวๆประมาณ 2นิ้วกว้างประมาณ1/2-1 ซ.ม ลวกให้สุกเสริมโปรตีนด้วยเนื้อไก่ต้มสุกฉีกเป็นเส้นๆ เนื้อไก่ต้มสุกกับไข่ต้มยางมะตูม เสริมด้วยนำ้ยำทวายที่ใช้เครื่องแกงเผ็ดโขลกรวมกับปลาเนื้ออ่อนย่าง นำไปผัดกับหัวกะทิ ปรุงรสด้วยนำ้มะขามเปียก นำ้ตาลปี๊บ นำ้ปลาให้ได้กลมกล่อมสามรสเพิ่มความหอมด้วยงาคั่วและหอมเจียว ถือว่าเป็นยำที่ครบเครื่อง ครบรส มีทั้งรูป รส กลิ่น สี ยิ่งทานก็ยิ่งมีสุขภาพดีเพราะมีวิตามินจากผักหลายชนิด มั่นใจได้เลยว่าต้องเป็นยำจานโปรดของคุณแน่ๆ 

“ครัวใบไม้”
น้ำจิ้มกุยช่ายสารพัดประโยชน์ 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​12 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

น้ำจิ้มกุยช่ายเป็นน้ำจิ้มแบบซีอิ๊วดำผสมน้ำส้มสายชู และน้ำตาลทรายเพิ่มอรรถรสความเผ็ดด้วยพริกสด และพริกป่น นอกจากจะเป็นนำ้จิ้มกุยช่ายแล้วยังสามารถนำมาเป็นน้ำจิ้มขนมจีบ น้ำจิ้มหมูกรอบ นำมาทำเป็นน้ำราดก๋วยเตี๋ยวหลอดโบราณ ทำเป็นซอสหมี่คลุกและเป็นซอสราดก๋วยเตี๋ยวแห้งได้อีกด้วย

วิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก ใช้นำ้ส้มสายชู 3ส่วน น้ำตาลทราย 3 ส่วน ซีอิ๊วดำ2ส่วนพริกสด 1/2 ส่วน พริกป่น 1/2 ส่วน คนให้น้ำตาลละลายหรือตั้งไฟให้ละลายเข้ากันก็ได้ สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องเก็บในตู้เย็น เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำจิ้มกุยช่ายแบบสารพัดประโยชน์เก็บไว้ใช้ได้นาน 

“ครัวใบไม้”
วิธีแก้ไขรสชาติในแกงส้มแบบภาคกลาง

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​5 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

หากว่าเราทานแกงส้มแล้วรู้สึกว่ามันเปรี้ยวมาก แสดงว่าขาดความกลมกล่อม เพราะแกงส้มรสชาติแบบคนภาคกลาง ต้องมีความกลมกล่อมจากสามรสชาติ คือเปรี้ยวนำ หวานตาม เค็มต่อท้าย หากกินแล้วมีแต่รสชาติของความเปรี้ยวโดดขึ้นมา ก็แค่ต้องเติมน้ำตาลกับน้ำปลา หรือมีรสใดรสหนึ่งโดดขึ้นมา ก็แค่เติมเครื่องปรุงอีกสองชนิดที่เหลือ คนให้ทุกอย่างละลายเข้ากันดี ชิมรสแบบที่เราชอบ หากชิมแล้วมีความเข้มข้นมากเกินไป ก็เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย นำไปตั้งไปให้เดือดอีกครั้ง แล้วปิดไฟเตาทันที เพียงเท่านี้ก็จะได้แกงส้มที่รสชาติถูกใจเรา

“ครัวใบไม้”
บำบัดอาการแพ้อากาศด้วยสมุนไพรที่มีภายในครัว

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​5 มิถุนายน พ.ศ. 2567 

รู้หรือไม่ว่าอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลหรือมีอาการคัดจมูกจากไซนัสนั้น วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในครัวสามารถช่วยได้โดย ใช้ตะไคร้ทั้งต้นและใบ 2 ต้น สะระแหน่ทั้งต้นและใบ2กิ่ง หัวหอมแดงทั้งเปลือก 2 หัว พริกไทยดำทั้งเม็ด 20 เม็ด องุ่นแดง 4 ผล โดยล้างทุกอย่างให้สะอาดแล้วทุบพอแตก ใส่ทุกอย่างลงในหม้อ เติมน้ำเปล่า 1 ลิตร ต้มให้เดือดแล้วจึงลดไฟลงเหลือแค่เพียงเดือดปุดๆ เบาๆก้ มหน้าลงไปสูดควันที่ระเหยขึ้นมาประมาณครั้งละครึ่งนาทีทำอย่างนี้ประมาณ 5-10 ครั้ง แล้วจึงปิดไฟ น้ำสมุนไพรที่ต้มนั้นใช้จิบเป็นชาอุ่นๆ ให้หมดใน 1 วัน ทำอย่างนี้ทุกวันให้ครบ 5 วัน อาการจะค่อยๆดีขึ้นตามลำดับ

“ครัวใบไม้”
เรื่องกล้วยกล้วย 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 

เมื่อเรานึกถึงกล้วย เราก็จะนึกถึงแค่เป็นผลไม้พื้นบ้านชนิดหนึ่ง ผลสีเหลือ มีรสหวาน ปอกง่าย ทานง่าย โดยที่ลืมนึกถึงส่วนอื่นๆ ของกล้วย จะว่าไป ก็เปรียบได้ว่า กล้วยเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ครอบจักรวาล ทุกส่วนของกล้วยตั้งแต่ ราก, โคนต้น, หยวก, กาบ, ใบ, ปลี, ดอก, ผล ใช้ประโยชน์ได้มากมาย อีกทั้งเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ได้ดี ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว
 
เริ่มจาก ผลของกล้วย ที่เราทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว กล้วยที่ดิบเราจะนำมาทำเป็นเมนูกับข้าว เช่าแกง ผัด ยำ หรือจะเป็นเมนูของหวาน เช่นกล้วยฉาบ กล้วยทอดกรอบ ทำแป้งกล้วยใว้สำหรับทำขนม หรือทำยา ทำอาหารเสริม เพื่อรักษา ดูแลกระเพราะอาหารและลำไส้ กล้วยสุกเราก็จะทานเป็นผลไม้ หรือจะทำเป็นอาหารว่างไปจนถึงอาหารหวาน เช่น กล้วยทอด กล้วยนึ่ง กล้วยต้ม กล้วยตาก กล้วยบวดชี กล้วยกวน ขนมกล้วยฯ 

ปลีกล้วย ตรงส่วนที่อ่อนก็นำมาทำอาหารได้หลากหลายเมนู และยังมีสรรพคุณบำรุงน้ำนมสำหรับคนที่เป็นแม่ลูกอ่อน
 
ดอกกล้วย จะแทรกอยู่ระหว่างชั้นของกลีบปลีกล้วย ตรงส่วนที่อ่อนก็จะถูกนำไปประกอบอาหาพร้อมกับปลีตรงที่อ่อน ส่วนตรงดอกแก่ที่อยู่ระหว่างชั้นของกลีบที่มีสีแดง จะนำมาตากลมให้แห้ง แล้วนำไปคั่วไฟอ่อนๆ เก็บใว้ชงเป็นชาดื่ม แก้ปวดท้อง บำรุงเลือด บำรุงปอด 
 
ใบกล้วย ใช้ห่ออาหาร ทำเป็นภาชนะใส่อาหาร หรือทำงานประดิษฐ์ตกแตงร่วมกับดอกไม้ ในงานพิธีทางวัฒนธรรม หรืองานประเพณีต่างๆ

กาบกล้วย นำมาสานเป็นภาชนะ หรือนำมาทำเป็นเชือกใว้มัดของ

หยวกกล้วย ใช้ทำอาหารคาว อาหารหวาน เช่นแกงส้ม,แกงเลียง,แกงคั่ว,ห่อหมก,ขนมหยวกกล้วย หรือนำมาเป็นอาหารสัตว์

โคนต้น นำมาทำแป้งสำหรับใช้ประกอบอาหาร หรือนำเป็นส่วนประกอบของยา

รากกล้วย ใช้เป็นยาพอกเคล็ดขัดยอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 

“ครัวใบไม้”
มะพร้าว 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​08 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 

เชื่อว่าหลายท่านต้องชอบผลไม้ชนิดนี้แน่นอน เพราะเป็นผลไม้ที่มี่น้ำมาก มีกลิ่นหอมเบาๆ รสชาติดี ดื่มแล้วชื่นใจ นิยมนำมาทำเมนูเครื่องดื่ม

นำมาเป็นส่วนผสมทั้งในอาหารหวานและอาหารคาว นอกจากนี้แพทย์ทางเลือก นิยมใช้น้ำมะพร้าวเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมนเพศหญิง ส่วนหมอพื้นบ้านแผนโบราณ นิยมให้ผู้ที่เหนื่อยอ่อน หมดกำลังใจ ดื่มเพื่อเพิ่มพลังใจ บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย เพราะถือว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์จากสวรรค์

เนื้อของมะพร้าวก็มีสรรพคุณไม่แพ้กัน เนื้อจากผลอ่อนนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่ม ในอาหารหวานและอาหารคาว มากมายหลากหลายเมนู

  แพทย์ทางเลือกนิยมใช้เนื้อมะพร้าวอ่อนเพื่อปรับสมดุลฮอโมนเพศชาย หมอแผนโบราณพื้นบ้าน นิยมใช้ฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีอาการจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ
 
ส่วนเนื้อมะพร้าวแก่ ก็นำมาเป็นส่วนประกอบทั้งในอาหารคาวและอาหารหวานด้วยเช่นกัน ทั้งยังนำมาสกัดน้ำมัน เพื่อเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางและยาอีกด้วย 

“ครัวใบไม้” 
พริกกะเกลือจิ้มผลไม้

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​17 เมษายน พ.ศ. 2567 

ใช้เกลือสมุทรหรือเกลือชมพู 20 กรัม ใส่พริกขี้หนูสวนสีแดง 6 เม็ด หรือพริกขี้หนูแดงจินดา 2 เม็ด อย่างใดอย่างหนึ่งลงโขลกกับเกลือให้ละเอียดเป็นสีเดียวกัน ใส่น้ำตาลทราย 200 กรัม ลงไปในครก ขั้นตอนนี้ไม่ต้องโขลก เพราะจะทำให้พริกกะเกลือชื้นเก็บได้ไม่นาน แค่ใช้ช้อนหรือทับพีคนคลุกเคล้าให้เข้ากันดี ตักใส่ภาชนะเก็บใว้จิ้มผลไม้ 

“ครัวใบไม้”
สารพัดประโยชน์จากผลฟักทอง 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​17 เมษายน พ.ศ. 2567 

เป็นที่ทราบกันยู่แล้วว่า เนื้อของผลฟักทอง ทำเมนูอร่อยๆได้หลากหลาย ทั้งคาวและหวาน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก 

มีทั้งวิตามินเอ วิตามินบี1,2,3,5,6 วิตามินอี วิตามินซี วิตามินเค ฟอสฟอรัส แคลเซียม โพแทสเซียม โซเดียม ธาตุเหล็ก ซิงค์ และแร่ธาตุต่างๆอีกหลายชนิด ประโยชน์ดียิ่งที่สาวๆที่ต้องการลดน้ำหนักชอบ เพราะเป็นอาหารที่อยู่ท้อง ไขมันน้อย น้ำตาลต่ำ ช่วยบรรเทาความหิวได้ 

และยังช่วยต้านอนุมูลอิสระ บำรุงสายตา บำรุงเลือด ช่วยทำให้ผิวพรรณผ่องใส เมล็ดฟักทองช่วยขับพยาธิ ขับปัสสาวะ บำรุงร่ายกาย ช่วยลดบวม เยื่อตรงกลางผลใช้พอก แก้ฟกซ้ำ และปวดอักเสบ ได้อีกด้วย 


“ครัวใบไม้”
ไข่เจียว 3 สไตล์ 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​10 เมษายน พ.ศ. 2567 

สัปดาห์นี้ติดต่อไปจนถึงสัปดาห์หน้าทางราชการได้ประกาศให้มีวันหยุดติดต่อกันถึง5วันเพื่อเฉลิมฉลองวันสงกรานต์ซึ่งเป็นประเพณีอันดีงามของไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามปกติแล้ววันสงกรานต์จะมี 3วันคือวันที่13เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ วันที่14เมษายนเป็นวันเนา คือวันอยู่ทางราชการกำหนดให้เป็นวันครอบครัวและวันที่15เป็นวันเถลิงศกคือวันขึ้นศักราชใหม่ในวันดังกล่าวนี้ จะมีการสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อขอสมาลาโทษพร้อมรับคำอวยพรเพื่อเป็นสิริมงคลต่อชีวิตและรดน้ำซึ่งกันและกัน นำ้ที่ใช้รดจะเป็นนำ้หอมเจือด้วยนำ้ธรรมดาเสร็จแล้วก็ไปเล่นสงกรานต์ตามสถานที่ต่างๆที่ได้กำหนดขึ้น
สำหรับผู้ที่อยู่ที่บ้านกับครอบครัวไม่ได้เดินทางไปที่ไหนๆอยากจะโชว์ฝีมือทำอาหารง่ายๆแต่มีรสชาติอร่อยกินกันภายในครอบครัว เชฟป้อม ได้แนะนำการทอดไข่เจียวให้อร่อยตามวิธีการ3แบบแล้วแต่จะเลือกแบบใดครับ

ไข่เจียว 3 สไตล์ตามความชอบ 


สไตล์ที่ 1 แบบดั้งเดิม
ใช้ไข่ 2 ฟองตีกับเครื่องปรุงให้เรียบร้อย ใส่น้ำมันลงกระทะประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ตั้งไฟให้น้ำมันร้อนเทไข่ลงไปตรงกลางกระทะ ใช้ตะหลิวค่อยๆแซะไปรอบๆไข่เพื่อให้ไข่ไม่ติดก้นกระทะ เขี่ยไข่วนไปมาเรื่อยๆ เมื่อไข่ตึงตัวดีแล้วก็กลับข้างเร็วๆ เพื่อให้ใข่เป็นทรงกลมสวยงามเขี่ยวนไปมาสักพักเพื่อให้ไข่ด้านล่างสุขดีแล้วจึงตักใส่จานเสริฟร้อนๆพร้อมข้าวสวยอร่อยมากแต่พอทิ้งไว้ให้เย็นก็อาจจะเกิดความเซ็งและกระด้าง    

สไตล์ที่ 2 แบบหนานุ่มชุ่มฉ่ำ
ตีไข่ 2 ฟองปรุงรสให้เรียบร้อย ใส่น้ำมันลงในกระทะประมาณ 5 ช้อนโต๊ะเทไข่ลงไปตอนที่น้ำมันเริ่มอุ่นแต่ยังไม่ร้อนจัดใช้ตะหลิวคนไข่เร็วๆให้แตกออกจากกันให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ให้สุกแค่ 50% รีบเขี่ยเข้ามาเป็นวงกลมตรงกลางกระทะเหมือนเดิม ใช้ตะหลิวแซะไข่วนไปมาพอไข่ด้านล่างสุก แล้วค่อยกลับข้างเขี่ยไข่วนไปมาอีกเหมือนเดิมในตอนนี้ถ้าน้ำมันในกระทะแห้งมากแล้ว ให้หยอดน้ำมันลงไปเล็กน้อยรอบๆไข่ ใช้ตะหลิวเขี่ยวนไปมาจนไข่สุก ตักใส่จานเสิร์ฟกลับเข้าสวยร้อนๆ สไตล์นี้นุ่มชุ่มฉ่ำอร่อยมาก ถึงจะทิ้งไว้ให้เย็นก็ยังมีความนุ่มของไข่อยู่ 
  

สไตล์ที่ 3 คือไข่เจียวกรอบ
ตอกไข่ 2 ใบปรุงรสชาติเหมือนเดิม ใส่น้ำมันลงในกระทะประมาณ 8 ช้อนโต๊ะรอให้น้ำมันร้อนจัดค่อยๆโรยไข่ลงวนๆให้เป็นเส้นหรือจะเทลงในกระชอนแล้วส่ายลงในน้ำมัน ไข่ที่ใส่ลงไปในน้ำมันแบบค่อยๆหยอดลงไปเป็นเส้นนั้นจะได้โดนน้ำมันทุกๆส่วน ซึ่งน้ำมันจะทำให้ไข่กรอบง่ายขึ้นเขี่ยวนไปวนมาสักพัก แซะไข่กลับข้างถ้าน้ำมันน้อยลงให้หยอดน้ำมันเพิ่มไปรอบๆไข่ เขี่ยหมุนไปมาจะทำให้ไข่กรอบ เมื่อไข่มีสีเข้มได้ที่แล้ว ตักใส้จานเสิร์ฟพร้อมข้าวสวยร้อนๆ ไข่สไตล์นี้ทิ้งไว้ให้เย็นก็ยังกรอบอยู่ แต่ถ้าทิ้งเอาไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงความกรอบก็จะหายไปและจะมีความเหนียวอีกด้วย เพราะฉะนั้นไข่เจียวทุกสไตล์ควรทานตอนร้อนๆจะอร่อยมาก 


“ครัวใบไม้” 
น้ำยาอุทัยคลายร้อน 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​10 เมษายน พ.ศ. 2567 

น้ำยาอุทัยคลายร้อน
ร้อนๆแบบนี้คนไทยเรามักจะใช้น้ำยาอุทัยหยดใส่ในน้ำดื่มเล็กน้อย เพื่อให้มีกลิ่นหอมสดชื่น อีกทั้งยาอุทัยยังมีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใส เมื่อหยดในน้ำจะทำให้น้ำมีสีชมพูอ่อนๆน่าดื่มอีกด้วย ลองไปหามาหยดใส่ในน้ำดื่มกันนะ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป 

“ครัวใบไม้”
ต้มส้มปลา

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​1 เมษายน พ.ศ. 2567 

อาหารที่หาทานอยากในปัจจุบัน “ต้มส้มปลา” (แบบภาคกลาง)

อาหารเมนูนี้เป็นประเภทน้ำซุป ที่มีรสชาติ เปรี้ยว เค็ม หวาน สามรส การปรุงใกล้เคียงกับแกงส้ม ต่างกันตรงสมุนไพรที่นำมาผสมเป็นเครื่องแกง ถ้าเป็นแกงส้มจะได้ความเผ็ดจากพริกแห้งและพริกสด ส่วนต้มส้มจะมีความเผ็ดร้อนจากขิงและพริกไทย   

วันนี้จะมาเล่าถึงการปรุงต้มส้มกันเริ่มต้นก็ต้องเลือกซื้อปลาที่ต้องการ (ส่วนใหญ่คนโบราณจะชอบใช้ปลา กระบอก) ล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยพักใว้ก่อนนำหม้อใส่น้ำตั้งบนเตาใช้ไฟกลางๆแล้วมาเตรียมเครื่องแกงต้มส้ม  

ใช้หอมแดงขิงแก่รากผักชีอย่างละพอๆกันใส่พริกไทยขาวเม็ดและกะปิเล็กน้อยโขลกให้ละเอียดเข้ากันดีตักใส่ในหม้อแกงเตรียมหอมแดงซอยขิงซอยหอมแดงเจียวและต้นหอมหั่นท่อนใว้โรยหน้าในหม้อแกงด้วยพอน้ำเดือดก็ใส่ปลาที่เตรียมใว้ลงไป  รอน้ำเดือดอีกครั้งลดไฟลงเล็กน้อยปรุงรสชาติด้วยน้ำมะขามเปียกน้ำตาลปี๊บน้ำปลาให้ได้รสเปรี้ยวนำหวานตาม

“ครัวใบไม้”
ไข่ดาวทอดง่าย

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​13 มีนาคม พ.ศ. 2567 

ไข่ดาว เป็นอาหารที่คนส่วนใหญ่ชอบกิน และแต่ละคนก็จะมีสไตล์การกินไข่ดาวในรูปแบบของตัวเอง เช่น ชอบแบบไข่แดงไม่สุกเลยแบบไข่แดงสุกปานกลาง หรือไข่แดงสุกมากๆ

แต่การทอดไข่ดาวก็ดูจะเป็นปัญหาของคนที่ไม่ได้เข้าครัวเป็นประจำ ยิ่งถ้าชอบกินแบบไข่ขาวขอบกรอบๆแต่ตรงไข่แดงยังดิบอยู่ ยิ่งรู้สึกว่ามันทอดยาก

วันนี้มีวิธีทอดไข่ดาวมากบอกกัน ชอบสไตล์ไหนก็ทำแบบที่ชอบเลย เริ่มต้นตั้งกระทะบนเตา ใช้ไฟกลางใส่น้ำมันลงไปประมาณ 4 ช.ต หมุนกระทะให้น้ำมันกลิ้งไปทั่วๆ ตอกไข่ใส่ถ้วยใว้ รอให้น้ำมันร้อนจัด จึงลดไฟลงเล็กน้อย เทไข่ลงตรงกลาง แล้วเพิ่มไฟกลับมาเท่าเดิม วิธีนี้จะทำให้น้ำมันไม่กระเด็นเวลาที่ใส่ไข่ลงไป รอให้ขอบไข่ขาวเริ่มพองและจับตัวสักหน่อย จึงใช้ตะหลิวค่อยๆแซะที่ละนิด วนๆ ไปรอบๆ ไข่ขาว จนไข่ไม่ติดก้นกระทะ มาถึงขั้นตอนนี้ถ้าชอบแบบไข่แดงดิบเลย ก็แค่ใช้ตะหลิวเขี่ยงไข่วนๆกลมๆไปเรื่อยๆจนไข่ขาวสุกทั่วตักไข่ใส่จานได้เลย ถ้าชอบไข่แดงสุกปานกลางแบบเป็นยางมะตูม ก็ใช้ตะหลิวตักน้ำมันขึ้นมาสาดลงบนหน้าไข่แดงไปเรื่อยๆ พอหน้าไข่เป็นสีขุ่นไข่ขาวสุกก็ตักใส่จานได้เลย  แต่ถ้าชอบแบบไข่แดงสุกมากๆก็ใช่ตะหลิวตักน้ำมันใส่ที่หน้าไข่และใช้ตะหลิวเขี่ยไข่หมุนไปมา ทำสลับกันจนไข่แดงสุกแข็งก็ตักใส่จานได้ 

 ถ้าทอดไข่มากกว่า 1 ครั้ง ทุกครั้งที่ตักไข่ขึ้นควรเติมน้ำมันใหม่ลงไป 1 ช.ต เพื่อไข่ขาวจะจับตัวสวยไม่แผ่กระจายออก เพราะจะดูไม่น่ากิน 

“ครัวใบไม้” 
มะเขือเทศ

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​6 มีนาคม พ.ศ. 2567 

ว่ากันด้วยเรื่องของมะเขือเทศ ที่มีประโยชน์มากมายหลายประการ นำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวหวาน มีอุมามิในตัว จะทานสดหรือผ่านความร้อนจนสุกก็อร่อย และยังมีสารอาหารต่างๆที่เป็นประโยชน์มากแก่ร่างกาย เช่น แคลเซียม เหล็ก เบต้า-แคโรทีน วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินซี และที่สำคัญยังมี สารไลโคปีน ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย วันนี้เอาเมนูง่ายๆจากมะเขือเทศมาฝากกัน

ยำมะเขือเทศย่าง
ใช้มะเขือเทศสายพันธุ์ใดก็ได้ตามความต้องการ ประมาณ 150 กรัม ผ่าครึ่งตามขวาง นำไปจี่ในกระทะจนสุก ตักใส่จานพักไว้กุ้งแห้งประมาณ 2 ช้อน ล้างให้สะอาด หอมแดงซอยประมาณ 2 ช้อน พริกขี้หนูซอยตามต้องการ น้ำมันมะกอก 1 ช้อน (จะไม่ใส่ก็ได้) ใบผักชีเล็กน้อย น้ำปลา 1 ช้อน น้ำมะนาว 1 ช้อน น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อน ผสมเครื่องปรุงทั้งสามอย่างให้ละลายเข้ากัน แล้วจึงใส่เครื่องทุกอย่างที่เตรียมไว้ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรส เพิ่มเครื่องปรุงตามชอบ ทานพร้อมกับไข่ต้มจะได้รสชาติที่ดีมาก 

“ครัวใบไม้” 
โป๊ยกั๊ก หรือ จันทน์แปดกลีบ 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 

จัดอยู่ในหมวดของเครื่อเทศ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมใช้ประกอบอาหารประเภทตุ๋นน้ำดำ แก้ท้องอืดเฟ้อ ช่วยบรรเทาอาการเหน็บชา ช่วยบำรุ่งตับ และม้าม เหมาะสำหรับคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  นอกเหนือจากการนำมาประกอบอาหารแล้ว ยังนำมาทำเครื่องดื่มเพื่อบำบัดอาการต่างๆ อีกด้วย เช่น ช่วยระบายและขับปัสสาวะ 
วิธีทำ
 1.โป๊ยกั๊ก 5 ดอก  
2.หัวหอมแดงเล็ก 5 หัว 
3.น้ำดื่ม 500 กรัม 
4.น้ำตาลกรวด 25 กรัม  

ต้มรวมกันให้เดือด ทิ้งใว้ให้เย็น จึงนำมากรองเอาแต่น้ำ เก็บใว้ดื่มได้เรื่อยๆ ถ้าชอบดื่มแบบร้อน ก็นำไปอุ่นได้ 

“ครัวใบไม้” 
เล่าเรื่องเครื่องแกงเขียวหวาน

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 

แกงเขียวหวานคือแกงที่มีสีเขียวหวานๆ ไม่ใช่แกงสีเขียวที่มีรสชาติหวานนะคะ เพราะคนมักจะเข้าใจผิดว่าแกงเขียวหวานต้องหวาน เครื่องแกงเขียวหวานที่ดีจะต้องมีความหอมสมุนไพร มีความเผ็ดร้อนพอประมาณแต่ไม่มาก เมื่อแกงแล้วจะมีสีเขียวเหมือนใบตองอ่อน
 
สมัยก่อนเวลาโขลกเครื่องแกงเขียวหวาน ก็จะใช้สมุนไพรที่ปลูกใว้ในสวนครัวหลังบ้าน เช่น ตะใคร้ ข่า ลูกมะกรูด ขมิ้นชัน รากผักชี ใบพริกเล็กน้อยเพื่อให้สีสวย และพริกขี้หนูหอมเล็กน้อยไม่ใส่มากเพราะจะเผ็ดเกินไป ถ้าบ้านไหนชอบเผ็ด เขาก็จะใส่เป็นลูกโดดลงไป ส่วนเครื่องชนิดอื่นๆ เช่น เกลือ กะปิ พริกไทย หอมแดง กระเทียม ก็จะซื้อเอา  เริ่มด้วยโขลกพริกไทยกับเกลือให้ละเอียดเสียก่อน ต่อด้วยผิวมะกรูดใส่ตามลงไปโขลกให้ละเอียด จึงใส่ข่า ตะใคร้ ขมิ้นขัน และรากผักชีลงโขลกให้ละเอีอดเข้ากัน แล้วตามด้วยหอมแดง กระเทียม กะปิ ใบพริก และพริกขี้หนูหอม โขลกให้ละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน จึงนำไปแกง 

 สัดส่วนของเครื่องสมุมไพรต่างๆก็แล้วแต่ว่าสูตรใครสูตรใครค่ะ ถ้าเป็นแกงเนื้อก็จะนิยมใส่ลูกโดด คือใส่พริกขี้หนูหอมเป็นเม็ดเม็ด แกงหมูก็จะใส่กล้วยดิบ แกงไก่ก็จะใส่มะเขือเปราะ แกงปลาก็จะใส่กระชาย 

“ครัวใบไม้”
ถั่วแระไทย

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​24 มกราคม พ.ศ. 2567 

ถั่วแระไทย หรือชื่อเรียกอื่นๆ เช่น  ถั่วแรด, ถั่วแฮ, ถั่วมะแฮ ถั่วแระไทยต้ม จัดเป็นอาหารว่าง ราคาถูก ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ถึงราคาจะถูก แต่ประโยชน์นั้นก็มากมายคุ้มค่าเกินราคา อย่าได้มองข้ามของไทยๆพื้นบ้านเชียวนะคะ เพราะถั่วแระไทยนั้นมีสรรพคุณทางยา สามารถใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกาย เมล็ดของถั่วแระ เป็นอาหารบำรุงกำลัง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต บำรุงกระดูกและฟัน บำรุงเส้นเอ็น มีปริมาณไขมันต่ำ โปรตีนและใยอาหารสูง ทำให้อิ่มท้องนาน และช่วยในการขับถ่าย    

เหมาะกับผู้สูงอายุและที่กำลังลดความอ้วนเป็นอย่างมาก** รู้อย่างนี้แล้วก็อย่ามองข้ามถั่วแระไทยนะครับ ถึงจะสีสันไม่สวยเท่าถั่วแระญี่ปุ่น แต่ก็มีประโยชน์มากไม่แพ้กันเลย แถมราคายังถูกกว่ามาก เรามาทานของไทย ใช้ของไทย อนุรักษ์ของไทยกันนะครับ

“ครัวใบไม้”
กระทะทองเหลือง

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​17 มกราคม พ.ศ. 2567 

เชื่อว่าหลายท่านคงจะรู้จักกระทะทองเหลืองกันดีอยู่แล้ว และยิ่งเป็นคนที่ชอบทำขนมไทยด้วยแล้วละก็จะรู้จักเป็นอย่างดีแน่นอนถ้าเป็นขนมที่ต้องใช้การกวนเช่นเผือกกล้วยมะม่วงมะขามทุเรียนวัตถุดิบพวกนี้เวลาโดนความร้อนมากๆจะมีสีที่คล้ำลงการกวนด้วยกระทะทองเหลืองก็ใช่ว่าจะทำให้สีไม่คล้ำ แต่ถึงจะคล้ำก็จะยังดูสว่างเป็นเงางาม และน่ากินกลับกันถ้าใช้กระทะเหล็กหรืออลูมิเนียม 

ในการกวนก็จะทำให้ขนมมีสีดำคล้ำขมุกขมัว ดูเหมือนสกปรกแต่กระทะทองเหลืองไม่ได้ใช้แค่ทำขนมอย่างเดียวกระทะทองเหลืองยังสามารถใช้ทอดและตุ๋นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะกระทะทองเหลืองร้อนเร็วและให้อุณหภูมิที่สม่ำเสมอ เช่นการทอดหมี่กรอบถ้าใช้กระทะอลูมิเนียมทอดจะทำให้เส้นหมี่กรอบแบบแข็งๆเหมือนเส้นลวดถ้าใช้กระทะเหล็กทอดเส้นหมี่ก็จะฟูกรอบเป็นอย่างดีแต่สีก็จะไม่ค่อยเสมอ ถ้าใช้กระทะทองเหลืองทอด เส้นหมี่จะฟูกรอบและมีสีเหลืองทองสม่ำเสมอสวยงาม สำหรับการตุ๋นนั้น เป็นการประกอบอาหารที่ต้องใช้ไฟอ่อนๆ และห้ามคนบ่อย ต้องมีความร้อนที่สม่ำเสมอ ด้วยรูปทรงของกระทะทองเหลือง จึงทำให้กระจายความร้อนได้ทั่วถึงและเท่ากันให้ทุกพื้นที่ของกระทะ อีกทั้งยังมีสรรพคุณของทองแดงกับสังกะสีที่นำมาผสมกันจนเป็นทองเหลืองทำให้อาหารไม่ติดกระทะง่ายและยังทำให้มีสีสวยอีกด้วย 

“ครัวใบไม้”
ของหวานครัวใบไม้
ขนมกล้วย ขนมฟักทอง   

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​20 ธันวาคม พ.ศ. 2566 

หลายๆ คนคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า  ...กินคาวแล้วไม่กินหวานสันดานไพร่...  สำนวนนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ น้ำตาลเป็นวัตถุดิบที่หายากและมีราคาแพง ดังนั้นอาหารและขนมที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ จึงทำกันเฉพาะในรั้วในวัง และในครัวของบ้านเหล่าขุนนางชั้นสูง เวลาที่ตั้งสำรับอาหาร จึงมีทั้งสำรับของคาวและตามด้วยสำรับของหวาน จนมีคำพูดว่า ...กินของหวานล้างปาก...

สำหรับครัวของหวานของครัวใบไม้เรานั้น “คุณเอรัชนีเพิ่มพูนประเสริฐ ผู้ควบคุมดูแล ได้พิถีพิถันในการใช้วัตถุดิบ โดยใช้แต่ของอินทรีย์เป็นหลักเท่านั้น ตั้งแต่ น้ำตาลทราย ก็ใช้อย่างชนิดที่ไม่ฟอกสี ขนมปัง ก็ใช้แป้งแบบไม่ขัดสี มะพร้าวอ่อน และน้ำมะพร้าว ก็เป็นแบบอินทรีย์ โดยมีแม่ค้าเจ้าประจำอยู่ที่ตลาด อ.ต.ก. ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็จะต้องพยายามหาจากแม่ค้าเจ้าอื่นที่เป็นอินทรีย์ แม้กระทั่งน้ำตาลปี๊บ ก็ใช้น้ำตาลมะพร้าวอินทรีย์อย่างดี เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจจะทำให้ขนมมีต้นทุนสูงขึ้นนิ๊ดหนึ่ง แต่ก็ทำออกมาขายในราคาที่ย่อมเยาตามนโยบายของ คุณจ๊ะแววรัตน์ชำนาญภักดี ที่อยากให้พนักงานยิบอินซอยทุกท่าน ได้กินของดี มีคุณภาพ ในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อทุกคนจะได้มีสุขภาพแข็งแรง มีความสุข 

ช่วงนี้ครัวของหวานจะทำ ขนมกล้วย และ ขนมฟักทอง ออกมาขายให้ได้ชิม คงไม่ต้องบรรยายว่าทั้งสองอย่างนี้มีประโยชน์แก่ร่างกายอย่างไรบ้าง ซึ่งส่วนผสมของทั้งขนมกล้วยและขนมฟักทองใช้แต่ของอินทรีย์ทั้งนั้น โดยเอามาบดผสมกับน้ำตาลมะพร้าวอย่างดี ใส่แป้ง กะทิ เกลือ ที่สำคัญคือ ใช้กล้วยและฟักทองในปริมาณที่มากเป็นพิเศษถ้าได้ตักเข้าปากชิมแล้ว ก็จะทราบได้ทันทีว่า มีเนื้อกล้วย เนื้อฟักทอง มากกว่าปกติที่ขายทั่วๆ ไป จะได้ทั้งความหวาน ความมัน ขนมแต่ละชิ้นจะนุ่มนวล ไม่แข็ง อร่อยมากครับ 

ขนมกล้วย และ ขนมฟักทอง ขายเพียงราคาชิ้นละ10 บาทเท่านั้น จะยังไม่ขึ้นราคา ซึ่งราคานี้ไม่มีกำไรนะครับ คิดว่าปีหน้าอาจจะต้องขึ้นราคานิดหน่อยตามวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น ฉะนั้น เมื่อได้ไปกินอาหารคาวที่ครัวใบไม้แล้ว ก็อย่าลืมของหวานกันด้วยนะครับ 

“ครัวใบไม้”
เทศกาลกินเจ

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​18 ตุลาคม พ.ศ. 2566 

เดือนตุลาคมนี้ นอกจากจะเป็นวันที่บรรดาข้าราชการที่เกษียณอายุ จะอยู่บ้านโดยไม่ต้องไปทำงานเหมือนปกติแล้ว วันที่13 ตุลาคม ยังเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวันที่13ตุลาคมของทุกปี ว่าเป็น “วันนวมินทรมหาราช”

และในเดือนตุลาคมนี้ ก็มีเทศกาลสำคัญ คือ “เทศกาลกินเจ” ซึ่งตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินแบบจันทรคติของจีน โดยปีนี้ตรงกับวันที่15-23 ตุลาคม ผู้ที่เคร่งก็จะกินเจล่วงหน้าก่อน 1-2 วัน เพื่อล้างท้องชำระร่างกายให้สะอาดจากการกินเนื้อสัตว์มาตลอดทั้งปี ซึ่งก่อนที่จะกินเจ ต้องตั้งจิตอธิษฐานให้กินเจได้อย่างตลอดรอดฝั่ง เพื่อนฝูงของผมบางคนก็ทำสำเร็จบ้าง บางคนก็ขลุกขลักไม่สำเร็จบ้าง เพราะเมื่อได้เห็นอาหารอร่อยๆ ที่คุ้นเคยเย้ายวนก็อดใจไม่ไหว เกิดอาการเจแตก ไม่สำเร็จก็มีไม่น้อย

ประวัติการกินเจ มีเรื่องเล่ากันหลายตำนาน แต่ที่เล่ากันอย่างแพร่หลายเชื่อกันว่า การกินเจเริ่มต้นในสมัยกองทัพแมนจู เข้ามาปกครองชาวจีนทำให้กลุ่มกองกำลังชาวบ้านที่ชื่อว่า “หงี่หั่วท้วง” รวมตัวกันต่อต้านกองทัพแมนจู โดยแสดงออกผ่านการถือศีลอด งดกินเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุน นุ่งขาวห่มขาวประกอบพิธีกรรมบริกรรมคาถาตามความเชื่อ แต่ท้ายที่สุด ก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพแมนจู โดยผู้นำทั้ง 9 คนถูกจับไปประหารชีวิต ทำให้นับแต่นั้นมาชาวจีนจึงร่วมกันถือศีลอดในเดือน 9 เป็นเวลา 9 วัน เพื่อรำลึกถึงกลุ่มหงี่หั่วท้วงในอดีต

ในช่วงเทศกาลกินเจนี้ ในกรุงเทพฯ ที่เยาวราชใกล้ๆ บริษัทของเรา ก็ได้จัดเทศกาลกินเจที่มีทั้งเมนูอาหารคาวและหวานอย่างยิ่งใหญ่ โดยจัดเต็มทั้ง 9 วัน (วันที่ 15-23 ต.ค.66) และมีหลายจังหวัด ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่มาก เช่นที่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดภูเก็ต และที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

มีข่าวดีสำหรับชาวยิบอินซอย ที่จะถือศีลกินเจในเทศกาลเจที่จะถึงนี้ ครัวใบไม้ของเราจะจัดเมนูเจอร่อยๆ ให้ได้ชิมตลอดเทศกาล โดยมีเมนูหลักประจำทุกวันคือ เต้าหู้ทอดเผือกทอดเปาะเปี๊ยะทอด คัดวัตถุดิบชนิดพิเศษ ที่สำคัญคือ น้ำจิ้ม ซึ่งเป็นแบบโบราณไม่เหมือนใคร เคยได้รับคำชมเชยว่า อร่อยมาก มาลองชิมกันได้ทั้งผู้ที่กินเจและไม่กินเจครับ 

“ครัวใบไม้”
น้ำพริกกะปิ

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​ 4 ตุลาคม พ.ศ.2566 

“น้ำพริกกะปิ” เป็นน้ำพริกที่อยู่คู่กับครอบครัวคนไทยมาเนิ่นนาน เป็นน้ำพริกถ้วยประจำของเกือบทุกครอบครัวก็ว่าได้ น้ำพริกกะปิแต่ละบ้าน จะมีรสชาติเฉพาะที่คนในครอบครัวนั้นชอบ เช่น ชอบออกเปรี้ยว ออกหวาน หรือออกเค็ม ก็ปรุงเอาตามความต้องการ และเนื่องจากคนไทยเราจะกินอยู่อย่างรู้คุณธรรมชาติ ก็จะไม่กินอาหารให้เหลือทิ้งขว้าง ถ้ากินน้ำพริกไม่หมด จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นๆ ได้ เช่น เอามาผัดกับหมูสับเป็น “น้ำพริกกะปิผัดหมูสับ” หรือจะเอามาผัดกับผักบุ้ง ผัดกับถั่วฝักยาว หรือผักชนิดอื่นๆ ที่เข้ากันได้   

บางวันถ้าอยากจะปรับเปลี่ยนกลิ่นสัมผัส ในมิติของความเปรี้ยวก็จะไม่ใส่มะนาว แต่จะทำเป็น “น้ำพริกกะปิมะม่วง” “น้ำพริกกะปิมะขามอ่อน” “น้ำพริกกะปิมะดัน” “น้ำพริกกะปิส้มจี๊ด” “น้ำพริกกะปิลำพู” แล้วแต่ว่าฤดูนั้นมีผลไม้เปรี้ยวชนิดใดออกบ้าง 

สำหรับขั้นตอนการตำน้ำพริกกะปิ ก็ไม่ยุ่งยาก เริ่มจาก เอากะปิประมาณ 1 ช้อนคาว ห่อด้วยใบตอง เอาไปปิ้งให้พอสุก แกะออกจากใบตอง ใส่ถ้วยพักไว้ก่อน กระเทียมไทยกลีบเล็กๆ ล้างให้สะอาด ปอกเปลือกออกบ้างไม่ต้องหมดประมาณ 1 ช้อนคาว ใส่ลงในครกพร้อมกับเกลือเม็ดสัก 2-3 เม็ด โขลกกับกระเทียมให้ละเอียด ใส่กะปิที่เตรียมใว้ลงโขลกกับกระเทียมให้เข้ากัน ใส่พริกขี้หนูตามความต้องการ มะเขือพวงประมาณ 20 เม็ด มะอึกสุกๆ หั่นบางๆ ประมาณ 1 ช้อนคาว ตำบุบๆ พอให้พริกกับมะเขือพวงแตก ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำมะนาว ใส่น้ำต้มสุกเล็กน้อย เอาช้อนคนให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ ถ้าอยากเพิ่มเค็มก็เติมน้ำปลา 

น้ำพริกกะปิ กินแนมกับผักลวกราดด้วยหัวกะทิ ผักบุ้งแดงผัดน้ำมัน ไข่เจียวชะอม และมะเขือเนื้อกรอบต่างๆ บอกเลยว่า เอาอะไรมาแลก ก็ไม่ยอมเชียว 

“ครัวใบไม้” 
ยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร 

 : ​ อารยา นุกูลรักษ์ 
: วันที่  27 กันยายน  2566

ครัวใบไม้ยกระดับมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร

 “อาหาร” นอกเหนือจากความอร่อยแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดด้วย โดยเฉพาะผู้ปรุงผู้เตรียม ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการจัดการอาหารและสถานที่ เพื่ออาหารที่ปรุงมาให้ผู้บริโภคนั้น จะมีความปลอดภัยจากอันตรายทั้งด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ

ดังนั้น ในวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นวันหยุด แต่พนักงานครัวใบไม้และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหารของบริษัทในเครือยิบอินซอย ก็พร้อมใจกันเข้าฝึกอบรม หลักสูตร "สุขาภิบาลอาหาร สำหรับผู้ประกอบการอาหาร" ณ Training Center  บริษัท ยิบอินซอย จำกัด โดยหลักสูตรนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารที่เป็นบุคคลสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบ ปรุง ประกอบอาหาร และให้บริการอาหารที่สะอาด ปลอดภัย ได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคล กฏหมายที่้เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการที่ดี ในสถานที่จำหน่ายอาหาร และสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

สาระสำคัญในการอบรม คือ ผู้เข้าอบรมจะต้องมีความรู้ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาหารไม่สะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค และต้องสามารถจัดการและควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ในสถานที่จำหน่ายอาหารได้  โดยปัจจัยที่เป็นสาเหตุทำให้อาหารปนเปื้อน มี 5 ปัจจัย ได้แก่ 

1. บุคคล หมายถึง ผู้สัมผัสอาหาร ได้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่กระบวนการเตรียม ปรุงประกอบ จำหน่าย และเสิร์ฟอาหาร รวมถึงการล้างและเก็บภาชนะอุปกรณ์ ยึดหลักว่าจะต้องทำให้สะอาด ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อนทุกขั้นตอนของการปรุง ประกอบ และจำหน่าย 

2. อาหาร  หมายถึง อาหารที่นำมาปรุงประกอบ ได้แก่ อาหารสด เนื้อสัตว์ ผักสด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง รวมถึงน้ำแข็ง น้ำดื่ม และสารปรุงแต่งอาหาร จะต้องเลือกอาหารที่ใหม่ สด สะอาด และปลอดภัย ผลิตจาก แหล่งที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ต้องรู้วิธีการปรุงและการเก็บอาหารอย่างถูกต้อง ใช้อุณหภูมิในการปรุงและเก็บอาหารที่เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้สะอาดปลอดภัยต่อการบริโภค 

3. ภาชนะอุปกรณ์ หมายถึง ภาชนะรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ใส่อาหารหรือหยิบจับอาหารระหว่างการเตรียม การปรุง ประกอบ และการจำหน่ายอาหาร จะต้องสะอาด ทำจากวัสดุที่ปลอดภัย และเลือกใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับอาหารแต่ละชนิด นอกจากนี้การล้างเก็บภาชนะอุปกรณ์ที่ถูกวิธี ก็มีส่วนที่จะทำให้อาหารสะอาด ปลอดภัย ไม่ถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อโรค

4. สถานที่ปรุงประกอบ และจำหน่ายอาหาร หมายถึง บริเวณที่เตรียม ปรุง ประกอบ จำหน่ายอาหาร และบริเวณที่รับประทานอาหาร ต้องจัดให้สะอาด เป็นระเบียบสะดวกต่อการทำงาน ต้องมีการระบายอากาศที่ดี โดยมีปล่องระบายควัน กลิ่น จากการประกอบอาหาร มีบ่อดักไขมัน จัดทำท่อระบายน้ำทิ้งที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บริเวณที่จำหน่ายอาหารหรือรับประทานอาหาร ก็ควรเช็ดล้าง ทำความสะอาดอยู่เสมอ

5. สัตว์และแมลงนำโรค หมายถึง หนู แมลงวัน แมลงสาบ มด รวมทั้งสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว นก ฯลฯ ซึ่งสามารถนำเชื้อโรคต่างๆ มาปนเปื้อนในอาหารและภาชนะอุปกรณ์ได้ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมและป้องกันโดยการจัดสภาพแวดล้อมของสถานที่ให้สะอาดและเป็นระเบียบ   หลังการอบรมจะมีการทดสอบทบทวนความรู้ เมื่อผ่านการสอบแล้วจะได้ใบวุฒิบัตรและบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งจะต้องมีการต่ออายุทุก 3 ปี และควรได้เข้ารับการฟื้นฟูความรู้ก่อนจะมีการต่ออายุบัตรครั้งต่อไป 

“ครัวใบไม้” ถือเป็นครัวในบ้านของชาวยิบอินซอยทุกคน ทีมงานจึงตั้งใจทำอาหารที่ทั้งอร่อยและสะอาดได้มาตรฐาน และจะพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้บริการอาหารที่หลากหลาย ทั้งอาหารเช้า กลางวัน อาหารจัดเลี้ยง ประชุมสัมมนา และอาหารในวาระพิเศษต่างๆ เพื่อให้เพื่อนพนักงานทุกคนได้มีความสุขกับอาหารอร่อยๆ ของเรา 

พริกแห้งจินดา 

 : สันติ อิ่มใจจิตต์
: วันที่  20 กันยายน  2566

ช่วงนี้ที่ลานใบไม้ของเรามีของดีมานำเสนอคือ “พริกแห้งจินดา” จากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้กระบวนการผลิตโดยทำให้แห้งด้วยแสงแดดและย่างไฟอ่อนเพื่อไม่ให้เป็นราง่าย
 
กลุ่มเกษตรกรที่ผลิตพริกแห้งจินดานี้ จะไม่เหมือนที่อื่น ๆ เพราะอยู่ในกลุ่มของระบบการรับรอง Participatory Guarantee System (PGS)  ที่รับประกันคุณภาพผลผลิตอินทรีย์โดยชุมชน ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคมและวิถีชีวิตวัฒนธรรม โดยจะมีการตรวจสอบพื้นที่การผลิต ที่ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยใช้สารเคมีมากกว่า 3 ปี มีพื้นที่กันชนผลผลิตในพื้นที่ ต้องมีการหมุนเวียน เป็นต้น ทั้งนี้ เขามีมาตรฐานที่เข้มงวด ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า ผลผลิตพริกจินดาที่ได้จากกลุ่มเกษตรกรของอำเภอแม่อายนั้น ปลอดภัยไร้สารเคมีด้วยประการทั้งปวง  

พริกแห้งจินดานี้ สามารถนำมาเป็นเครื่องปรุงอาหารโดยนำมาอบหรือคั่วให้แห้ง เวลาที่คั่วต้องใส่เกลือลงไปนิดหน่อย เพื่อระงับความฉุน เสร็จแล้วนำไปปั่นจนละเอียด นำไปผัดกับน้ำมันจนเข้ากัน ตักเก็บใส่กระปุกเอาไว้เป็นเครื่องปรุงรสเวลากินอาหาร จะใส่ในก๋วยเตี๋ยวหรือผัดต่างๆ ก็ได้ ช่วยให้มีรสชาติเผ็ดร้อนทำให้อาหารจานนั้นอร่อยมากขึ้น

 พริกแห้งจินดามีขายที่ Co-working space ลานใบไม้ในราคา 100 กรัม 30 บาท รีบไปซื้อหากันครับ เพราะของดีมีจำนวนจำกัด  

น้ำพริกลงเรือ 
อาหารชาววังแต่โบราณ 

 : สันติ อิ่มใจจิตต์
: วันที่  13 กันยายน  2566

“น้ำพริกลงเรือ” เมนูอาหารจานเดียว อร่อยเป็นที่โปรดปรานสำหรับนักชิมหลายๆ ท่านเพราะว่า รสชาติกลมกล่อม มีครบทุกรส เชื่อไหมว่าเกิดขึ้นจากความบังเอิญบวกกับความพิถีพิถันอย่างชาญฉลาด และความชำนิชำนาญในการครัวของห้องเครื่องภายในวัง จึงทำให้เกิดเมนูนี้จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่ว

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล ราชธิดาองค์ที่ 60 ในรัชกาลที่ 5 มีพระประสงค์ที่จะล่องเรือไปตามคูคลองในเขตอุทยานวังสวนสุนันทากับบรรดามิตรสหาย พระราชมารดาคือ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ผู้ดูแลห้องเครื่องต้นในรัชกาลที่ 5 จึงรับสั่งให้ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ หาเครื่องเสวยที่ยังหลงเหลืออยู่ในครัว เพื่อนำลงเรือไปเสวยด้วย ซึ่งของคู่ครัววังที่มีอยู่เป็นประจำคือ น้ำพริกกะปิ หมูหวาน ปลาฟู ไข่แดงเค็ม ฯลฯ เจ้าจอมสดับจึงจับเล็กผสมน้อยคู่กับข้าวสวย ผักสด จัดเป็นสำรับเพื่อไปเสวยในเรือ มีรสชาติอร่อยเป็นที่โปรดปรานบอกขานเล่าต่อกันมาจนกลายเป็นเมนูสุดฮิตของห้องอาหารดังๆ ในสมัยนี้

ที่ครัวใบไม้ของเรา เชฟป้อม (อมรรัตน์ แซ่เฮง)  ป้ากบ (วิลาวรรณ สะสม) และบรรดาคณะแม่ครัว ก็ได้ทำเมนูนี้ออกมาให้ได้ชิมบ่อยๆ ติดตามข่าวสารได้จากครัวใบไม้นะครับ 

แกงรัญจวน

 : สันติ อิ่มใจจิตต์
: วันที่  23 สิงหาคม  2566

แต่รสชาติเหล่านี้เมื่อไปอยูในอาหาร จะทำให้มีความกลมกล่อม แถมยังมีคุณประโยชน์ทางด้านสารอาหาร มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และวิตามินซี และมีสรรพคุณทางยา คือ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี และช่วยบรรเทาอาการปวด ประโยชน์มากมายขนาดนี้ต้องขนานนามว่า จิ๋วแต่แจ๋วจริงๆ​       “แกงรัญจวน” เป็นแกงที่พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอรรคชายาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้จดบันทึกไว้ เพราะพระองค์ท่านเป็นคนมัธยัสถ์ จึงเอาของเหลือจากผัดพริกเนื้อกับน้ำพริกกะปิ โดยนำทั้งสองอย่างมาผสมกันใส่น้ำแล้วปรุงรส เมื่อกะปิถูกความร้อนก็จะมีกลิ่นจึงตั้งชื่อว่า “มันรัญจวน” “หอมรัญจวน” 

ปัจจุบัน “แกงรัญจวน” จะใช้เนื้อหมูแทนเนื้อวัว โดยนำน้ำพริกกะปิปรุงรสเข้มข้น ตั้งน้ำให้เดือด นำเนื้อหมูสไลซ์บางใส่ลงไปตุ๋นพร้อมกับกะปิ จนเนื้อหมูเปื่อยและกะปิจะซึมเข้าไปในเนื้อหมู ใส่ตะไคร้ ปิดไฟ ใส่ใบโหระพา จะได้รสชาติของหมูนุ่มๆ ที่มีกะปิหอมๆ แทรกเข้าไปในเนื้อน้ำซุปจะหอมหวานกลมกล่อมมาก

อีกไม่นานครัวใบไม้ของเราคงจะมีเมนูนี้ออกมาให้ชิมโดยฝีมือของเชฟป้อม อมรรัตน์ แซ่เฮงครับ 

มะเขือพวง

 : สันติ อิ่มใจจิตต์
: วันที่  30 สิงหาคม  2566

  “มะเขือพวง” มีหลายชื่อที่ใช้เรียกตามท้องถิ่น เช่น มะแคว้ง หมากแข้ง มะแว้งช้าง แต่ถึงจะมีชื่ออย่างไร ลักษณะการใช้ก็ใกล้เคียงกัน คือ นำมาใส่แกงหรือใส่น้ำพริกเสียส่วนใหญ่ อาจจะมีเอามายำหรือใส่ส้มตำบ้าง แต่ก็ไม่มาก

รสชาติเฉพาะตัวของมะเขือพวง ก็จะมีความขิว (เหม็นเขียว) เล็กน้อย ขมพอประมาณ และมีความขื่นพอเบาๆ แต่รสชาติเหล่านี้เมื่อไปอยูในอาหาร จะทำให้มีความกลมกล่อม แถมยังมีคุณประโยชน์ทางด้านสารอาหาร มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 วิตามินบี2 และวิตามินซี และมีสรรพคุณทางยา คือ ช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี และช่วยบรรเทาอาการปวด ประโยชน์มากมายขนาดนี้ต้องขนานนามว่า จิ๋วแต่แจ๋วจริงๆ

พูดถึงเรื่องประโยชน์และสรรพคุณไปก็มากแล้ว เรามาแนะนำเมนูที่ใช้มะเขือพวงเป็นหลักและอร่อยมากกันดีกว่า เมนูนี้ชื่อว่า "น้ำพริกมะเขือพวง" อ๊ะ! อย่าเพิ่งอี๋กันนะจ๊ะ ขอบอกเลยว่าเมนูนี้อร่อยจริงจังมากๆ เริ่มจาก 

     · เอามะเขือพวงประมาณ 1/2 ถ้วยข้าวต้ม ไปคั่วไฟในกระทะให้ผิวพอมีจุดเกรียมๆ เอาพักใว้ก่อน  
     · นำปลาฉลาด(ปลากรอบ) สัก 1 ตัวใหญ่มาปิ้ง แกะเอาแต่เนื้อเตรียมไว้  
     · เอากะปิ 1 ช้อน ห่อใบตองแล้วปิ้งให้หอม แกะออกจากใบตองใส่ลงครกใว้ ตามด้วยพริกขี้หนูสวน 1 ช้อน (อันนี้จะลดหรือเพิ่มก็ได้ตามความต้องการ) พริกชี้ฟ้าเหลืองหรือแดงก็ได้แล้วแต่ชอบ 1 เม็ด ต่อด้วยกระเทียมกลีบเล็กๆ 1 ช้อน โขลกให้เข้ากัน  
     · แล้วใส่เนื้อปลาฉลาดลงโขลกให้ละเอียด ใส่มะเขือพวงที่คั่วใว้โขลกแค่พอเม็ดแตก ใส่มะอึกสุกๆ ฝานเป็นแว่นๆ สัก 3 ลูก ลงไปโขลกเบาๆ พอให้เข้ากัน  
     · ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลปี๊บ ชิมรสชาติตามความชอบ ใช้ผักสด ผัดดอง ไข่ต้ม เป็นเครื่องแนม  

หรือถ้าใครไม่อยากทำทานเอง ก็รอครัวใบไม้ทำให้ทานแล้วกันนะจ๊ะ 

Buy Now
เบาะรองนอน
Sample text. Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit nullam nunc justo sagittis suscipit.
Quantity
฿590