Y MAGAZINE

0

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

รางวัล Robinhood Awards 2024
ร้านพระรามเก้าไก่ย่าง 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 05 กุมภาพันธ์ 2568 

ขนมจีนทำมาจากแป้งข้าวเจ้า มีลักษณะเป็นเส้นกลม นิยมรับประทานกันในหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากมีชื่อว่าขนมจีน คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าเป็นอาหารที่แปลงมาจากอาหารจีน แต่ขนมจีนไม่ได้มีต้นกำเนิดจากอาหารจีน สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากอาหารของชาวมอญหรือชาวรามัญ คำว่า "ขนมจีน" เพี้ยนมาจากคำว่า "คนอมจิน" ในภาษามอญ ซึ่งแปลว่า แป้งที่ทำให้สุก
 
ขนมจีนในประเทศไทย เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเข้ามาพร้อมกับการอพยพของชาวมอญ ชาวมอญเรียกขนมจีนว่า คนอม ซึ่งแปลว่าจับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่าจินแปลว่าทำให้สุก
ในปัจจุบัน ขนมจีนมีหลากหลายรูปแบบและมีการรับประทานกับน้ำยาหรือเครื่องเคียงที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น น้ำยาป่า น้ำยากะทิ น้ำพริก แกงเขียวหวาน และอื่นๆ ความเชื่อเกี่ยวกับขนมจีน ในบางท้องถิ่นมีความเชื่อว่าการรับประทานขนมจีนในวันปีใหม่ไทยจะทำให้มีอายุยืนยาวเหมือนเส้นขนมจีน 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

แลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุง

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 29 มกราคม 2568 

ถนนเจริญกรุงที่เริ่มตั้งแต่ถนนสนามไชยผ่านข้ามสะพานพิทยเสถียรตรงข้ามบริษัท ยิบอินซอย จำกัดของเราจนไปสิ้นสุดที่ท่าเรือถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่4) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2407 เนื่องจากในสมัยนั้นมีชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้นและพวกกงสุลต่างๆ ได้เข้าชื่อกันให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ โดยอ้างว่าเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้าไปเที่ยวทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยเนืองๆ

ถนนที่สร้างเป็นถนนดินอัดแน่นผ่านสถานที่สำคัญๆต่างๆมากมายเช่น โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทยคือ โรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล สถานทูตแห่งแรกของต่างชาติในประเทศไทยคือ สถานทูตโปรตุเกสธนาคารแห่งแรกของประเทศไทยคือ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดด่านศุลกากรคือ ศุลกสถานเพื่อจ่ายภาษี ห้างขายยาอังกฤษตรางูร้านยาแห่งแรก ส่วนย่านตลาดน้อยก็มีตลาดเจ้าสัวสอนของหลวงอภัยวณิช (สอน) เจ้าของคฤหาสน์จีนหรู สี่เรือนล้อมลานฯลฯ

เมื่อสร้างถนนเสร็จใหม่ๆยังไม่ได้พระราชทานนามคนทั่วๆไปพากันเรียกว่า ถนนใหม่ ชาวยุโรปเรียกกันว่า นิวโรด (New Road ) ต่อมาจึงได้รับพระราชทานนามถนนนี้ว่า ถนนเจริญกรุง ที่สำคัญของถนนเจริญกรุงที่ต้องพูดถึงคือ เป็นถนนที่มีรถรางนับว่าเป็นรถรางสายแรกในทวีปเอเซียสร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2431 แรกๆรถรางใช้ม้าลากรถไปตามรางจุดขายสำคัญของรถรางในสมัยนั้นคือ ความสะดวกสบายไม่สะเทือนเหมือนรถเจ็กแต่มีปัญหาเรื่องการใช้ม้าหนักจนม้าหมดแรงหลายครั้ง ม้าลากรถรางผอมโซ ถึงกับม้าล้มลงกลางทางก็มี

ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นระบบใช้ไฟฟ้าในรถรางให้การบริการได้รับความนิยมมากมีการเดินรถรางถึง 7 สาย มีตู้รถให้การบริการแบ่งเป็นชั้น 1 และชั้น 2 แต่ต่อมาการสัญจรไปมาสะดวกขึ้นมีรถเมล์เข้ามาทำให้รถรางเสื่อมความนิยมทางราชการจึงเลิกเดินรถรางในกรุงเทพมหานครในปีพุทธศักราช 2511 และยังนำรถรางที่มีอยู่ไปวิ่งที่จังหวัดลพบุรีแต่ต่อมาก็ต้องยกเลิกในที่สุด ส่วนที่ถนนเจริญกรุงมีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ล่าสุดนั้นก็คือ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้จัดสร้าง ซุ้มประตูวชิรสถิตและวชิรธำรง 72 พรรษาเพื่อน้อมเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบและครบรอบ 50 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ จีน-ไทยตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงโดยซุ้มประตูวชิรสถิต 72 พรรษา ตั้งอยู่เชิงสะพานดำรงสถิตข้ามคลองรอบกรุง (คลองถม) และซุ้มประตูวชิรธำรง 72 พรรษา ตั้งอยู่บนแยกหมอมี โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณพระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันเสาร์ที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา

สัญญลักษณ์แห่งใหม่บนถนนเจริญกรุงทั้งสองซุ้มนี้เป็นความภาคภูมิใจของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นสัญญลักษณ์แห่งการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความจงรักภักดีมีส่วนร่วมทั้งสองประตู โดยใช้ช่างฝีมือเยี่ยมแกะสลักปฏิมากรรมมงคลแกะสลักหินอ่อนหยกขาว ชั้นเลิศเป็นช้าง สิงโตและกลองมีความหมายอย่างลึกซึ้งโดยใช้เวลานานถึง 4 เดือนจึงแล้วเสร็จ
 
ถ้ามีเวลาว่างหรือผ่านไปถนนเจริญกรุงขอแนะนำให้เที่ยวชมซุ้มประตู วชิรสถิตและซุ้มประตูวชิรธำรง เฉลิมพระเกียรติ6รอบก็จะได้เห็นความสวยงามที่หาชมที่ไหนๆไม่ได้ง่ายๆ ครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ฉลองตรุษจีนที่เยาวราช 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 22 มกราคม 2568 

วันตรุษจีนปีนี้เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่27มกราคมเป็นวันจ่าย วันอังคารที่ 28 มกราคม เป็นวันไหว้  ซึ่งพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน จะทำการไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตามด้วยไหว้บรรพบุรุษในตอนสาย แล้วไหว้ผีไม่มีญาติในช่วงบ่าย ส่วนวันต่อมาคือวันพุธที่ 29 มกราคมเป็นวันถือ คือวันตรุษจีน ซึ่งถือกันว่าในวันนี้ทุกคนจะต้องพูด และทำเฉพาะแต่สิ่งที่เป็นมงคล ไม่พูดขากล่าวหากันใครที่พูดจาไม่ดี ชาวจีนที่ถือจะไม่อยากให้เข้าในบ้าน และเมื่อพบกันก็จะกล่าวคำอวยพรกันว่า ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี้ฮวกใช้ แปลเป็นไทย คือ ขอให้โชคดีปีใหม่ 

ในวันถือนี้ บางคนมักจะเรียกว่า วันเที่ยวหรือวันกิน เพราะจะได้เงินแต๊ะเอียหรือโบนัสพิเศษ ก็จะพาครอบครัวไปเที่ยว ไปกินอาหารตามที่ต่างๆเพื่อเป็นการฉลอง เทศกาลตรุษจีนปีนี้ กรุงเทพมหานครได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนที่นำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ สมาคมผู้ค้าทองคำ (ฯลฯ) เนรมิตถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาให้เป็นถนนคนเดิน ตกแต่งด้วยโคมไฟสีแดงและสัญลักษณ์มงคลต่างๆ มีการเชิดสิงโตและมังกรทองที่ตระการตาซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี และความเจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์เวลา 18.00-24.00 น.  

งานใหญ่สุดคือวันที่ 29 - 30 มกราคม ตั้งแต่เวลาเที่ยงวันจนถึงเที่ยงคืนจะมีการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานตรุษจีนเยาวราช ในวันพุธที่ 29 มกราคม ณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา 


เที่ยวงานตรุษจีนที่ยิ่งใหญ่แล้วต้องไปกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) และศาลเจ้าต่างๆที่พลาดไม่ได้อีกแห่งคือ ศาลเจ้าแม่กวนอิม โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย องค์เจ้าแม่กวนอิมมีอายุมากกว่าพันปี เป็นปางประทานพรแกะสลักด้วยไม้จันทร์หอมซึ่งทางมูลนิธิได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่กวนอิมมาจากประเทศสาธารรัฐประชาชนจีนเพื่อให้ประชาชนที่เลื่อมใสมาสักการะบูชากราบไหว้ขอพรตั้งแต่ปี พ.ศ 2501
 
อาหารมงคลที่ต้องเสาะหามากินให้ได้ในเทศกาลตรุษจีนคือ หยี่ซัง ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อได้กิน หยี่ซัง แล้ว จะ เหนียน เหนียน ยู่เฉียน คือจะรำ่รวยเงินทอง มีโชคลาภ ธุรกิจเจริญรุ่งเรืองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ครับ  

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ความหมายของขนมเข่ง
และขนมเทียนกับการไหว้เจ้า 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 22 มกราคม 2568 

ใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีนแล้ว คนไทยเชื้อสายจีนก็จะต้องเตรียมตัวจัดหา ของที่จะนำมาเส้นไหว้เทพเจ้า และบรรพบุรุษ และหนึ่งในของเส้นไหว้นั้น ก็จะต้องมีทั้งขนมเข่ง และขนมเทียน  ซึ่งเป็นประเพณีของชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย และชาวไทยเชื้อสายจีน ได้สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน และสารทจีน ขนมทั้งสองชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมนำมาเป็นเครื่องเส้นไหว้ที่เป็นมงคล สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวจีน  

ขนมเข่ง มีความหมายถึงชีวิตที่หวานชื่น ราบรื่น และอุดมสมบูรณ์ ทำการกิจการค้าการขาย ก็จะได้ผลกำไรเต็มเปี่ยม เหมือนขนมเข่งที่เต็มเข่ง   

ขนมเทียน มีความหมายถึงการมีชีวิตที่ราบรื่น ด้วยรูปลักษณะที่เป็นทรงแหลมเหมือนเจดีย์ หรือภูเขาจึงถือว่าเป็นเป็นสิ่งมงคล การห่อที่ใส่ไส้ด้วยก็เปรียบเหมือนการมีสมบัติเก็บใว้แบบเหลือกินเหลือใช้ 

การไหว้เจ้าด้วยขนมเทียนขนมเข่ง ยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังดี ความเจริญก้าวหน้า และชีวิตที่ราบรื่น

สำหรับชาวจีนที่อพยพมาอยู่ประเทศไทยการนำขนมเข่ง และขนมเทียนมาเป็นเครื่องไหว้ ก็เท่ากับเป็นการรำลึกถึงอดีต ที่มีช่วงเวลาที่ยากลำบากกว่าจะก่อร่างสร้างตัวได้

พราะฉะนั้น การไหว้เจ้าด้วยขนมเข่งและขนมเทียนจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเพณี แต่ยังมีความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับศาสนา เกี่ยวกับความเชื่อ และวัฒนธรรม  

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

พิพิธตลาดน้อย
พิพิธภัณฑ์ชุมชนจีนริมเจ้าพระยา 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 15 มกราคม 2568 

ตลาดน้อย คือชุมชนจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เติบโตต่อเนื่องจากสำเพ็งมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ ผ่านเวลายาวนานกว่า 200 ปี จากชุมชนบ้านช่างหลอม ศูนย์ซ่อมบำรุงเรือ ศูนย์รวมอาหลั่ยเก่าเซียงกง มาจนถึงยุคแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลาดน้อยมีความหลากหลายของศรัทธาและสถาปัตยกรรม นับแต่ศาลเจ้า วัดพุทธ วัดคริสต์ วัดญวน ตึกฝรั่ง มีเทศกาล เช่น หย่วนเซียว (ไหว้เต่า) ไหว้พระจันทร์ ถือศีลกินเจและงานแห่พระรูปพระเยซูในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ของจีนคริสตัง มีสำเนียงภาษาและอาหารจีนฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ฮากกา ไหหลำ แต้จิ๋ว มรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงเรืองแสงดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง 

แต่ก่อนที่จะเดินพาพรรคพวกเพื่อนฝูงเที่ยวชม ตลาดน้อย มรดกในอดีตที่ยังเรืองแสง นั้น ขอแนะนำให้แวะไป พิพิธตลาดน้อย ที่อยู่บริเวณท่าเรือภาณุรังษี ใกล้ๆศาลเจ้าโจว ซือ กง เพื่อศึกษาหาความรู้ในเรื่อง ตลาดน้อย เสียก่อนก็จะเป็นการดีที่สุดครับ พิพิธตลาดน้อยนี้ เป็นสถานที่ที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังสร้างขึ้นจากอดีตที่เคยเป็นโรงกลึงเก่า อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนและแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชนตลาดน้อย โดยเริ่มเปิดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมพุทธศักราช 2567  

พิพิธตลาดน้อยแบ่งเป็น 3 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นพื้นที่เพื่อการประชาสัมพันธ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เหรียญและของที่ระลึกของกรมธนารักษ์ ส่วนชั้นที่2 เป็นชั้นนิทรรศการตลาดน้อยชุมชนช่างจีนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ย้อนประวัติศาสตร์ตลาดน้อย จากบ้านโรงกระทะเป็นบ้านช่างหลอมจีน มีภาพสำคัญๆของตลาดน้อย เช่น ศาลเจ้าต่างๆ โบสถ์คริสต์ ธนาคารไทยพาณิชย์วัดปทุมคงคา บ้านโซว เฮง ไถ่ ฯลฯ รวมทั้งเครื่องละเล่นสมัยเก่า เช่นป๋องแป๋งไล้เหลี่ยว เต้าฮวยไล้เหลี่ยว ที่นักท่องเที่ยวที่ได้ขึ้นไปเล่นเครื่องเล่นนี้กันอย่างสนุกสนาน มีภาพบุคคลสำคัญๆของตลาดน้อย เช่น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เกิดที่ตรอกโรงสูบน้ำตลาดน้อย เริ่มเรียนหนังสือที่ตลาดน้อย ต่อมาได้ขึ้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการของรัฐ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากยูเนสโก อัฐิของท่านได้รับการบรรจุอยู่ที่ระเบียงคดวัดปทุมคงคาร่วมกับอัฐิของยายและแม่ของท่าน


นายโกศล ฮุนตระกูล พ่อค้าที่มีชื่อเสียงสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับชาวไทยเชื้อสายไหหลำ โดยเป็นผู้ก่อตั้ง สมาคมไหหนำแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าการจัดการรับเสด็จฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่9) ที่เสด็จฯ สำเพ็งเมื่อปีพุทธศักราช 2489 เป็นผู้ที่ริเริ่มทำน้ำมะเน็ดโซดา มีกิจการโรงน้ำแข็ง ห้องเย็น เป็นเจ้าของบริษัทเรือเมล์จีนสยาม รับส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่าง ฮ่องกง ซัวเถา ไฮ้เค้า ฯลฯ
 
คุณนายลออ หลิมเซ่งพาย เกิดที่บ้าน โซ เฮง ไถ่ ของหลวงอภัยวานิช (สอน) ซึ่งเป็นคุณลุง ได้บริจาคที่ดินและทุนทรัพย์สร้างอาคารเรียนโรงเรียนวัดไตรมิตร มอบที่ดินบริเวณตลาดน้อยตั้งโรงเรียนการช่างสตรีเอี่ยมละออ ซึ่งต่อมาคือวิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา ฯลฯ

ส่วนชั้น  3นั้นจะเป็นนิทรรศการย่านเซียงกงอัตลักษณ์ชุมชนตลาดน้อยมีการฉายวิดีทัศน์ให้ชมทุกครึ่งชั่วโมงตั้งแต่เวลา 8.30-15.30 น. เสียงเป็นภาษาอังกฤษมีบรรยายภาษาไทยครับ
 
พิพิธตลาดน้อยนี้เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันศุกร์ระหว่างเวลา 8.30-16.30 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ และวันนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00-18.00 น. ปิดให้บริการวันจันทร์จะติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-233-7390-1 จะได้รับความรู้อย่างกระจ่างแจ้ง และจะทำให้เที่ยวตลาดน้อยด้วยความสนุกมากขึ้นครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

เซี่ยงกง 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 8 มกราคม 2568 

ใครๆ ก็ทราบกันดีว่า เซี่ยงกงนั้นเป็นกลุ่มธุรกิจที่จำหน่ายอาหลั่ย ชิ้นส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สำหรับรถใช้แล้วแต่ยังคงมีอีกหลายคนที่ไม่ทราบว่า คำว่า เซี่ยงกง นั้นมาจากชื่อของ ศาลเจ้าเซียงกง ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆบริเวณถนนทรงวาดส่วนที่ตัดกับถนนเจริญกรุงเป็นชุมชนชาวจีน ย่านนี้เรียกว่า เซียงกงหรือชื่อเป็นทางการว่า ซอยวานิช2 คำว่าเซียงกงนั้นแปลตรงตัวได้ว่าผู้นำเซียน ภายในศาลนั้นมีลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จฯเนื่องในเทศกาลตรุษจีน ณ ศาลเจ้าเซียงกง เมื่อปีพุทธศักราช 2554

ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชุมชนเซียงกงได้เริ่มทำธุรกิจเก็บของเก่า เช่นจักรยานนำมาซ่อมแซมปรับปรุงหรือแยกชิ้นส่วนออกไปจำหน่าย ต่อมาเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่2 ธุรกิจนั้นขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีรถที่ใช้ในสงครามปลดประจำการลงเป็นอันมากแต่ธุรกิจก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนต้องมีการนำเข้าอาหลั่ยจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาหลั่ยที่ใช้แล้วนี้มีบทบาทสำคัญในการผลิตรถต่างๆ เช่น รถสามล้อเครื่อง รถตุ๊กๆ รถอีแต๋นและในปัจจุบันคำว่า เซียงกง ก็ยังนำไปใช้เรียกย่านธุรกิจแบบเดียวกันในต่างถิ่นอีกด้วย เช่น ย่านรังสิต ถนนพระราม3 ถนนบางนา-ตราดหรือตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ สมุทรปราการ สระบุรี ชลบุรี ฯลฯ 

ใครที่ขับรถผ่านไปมาที่บริเวณสี่แยกถนนข้าวหลามตัดกับถนนเจริญกรุงจะพบกับหุ่นยนต์ Tranformers คือหุ่นยนต์ ออฟติมัสมีความสูง 4 เมตร ราคา 150,000 บาท และที่บริเวณหน้าวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) หุ่นยนต์บับเบิ้ลบี สูง 2.5 เมตรราคา 75,000บาท เป็นฝีมือของ คุณอารี มนัสภากรหรือที่รู้จักกันดีในตลาดน้อยในชื่อเฮียเซ้ง จูเนียร์ได้เก็บอาหลั่ยเก่าๆตามอู่ต่างๆมาประกอบเป็นตัวหุ่น เช่น เกียร์ทั้งลูก เฟื่องต่างๆ มาใช้ความคิดประดิษฐ์เป็นตัวหุ่น ซึ่งหุ่นตัวหนึ่งๆจะใช่อาหลั่ยประมาณ 50-100 ชิ้นเมื่อประดิษฐ์เป็นตัวหุ่นเรียบร้อยแล้วได้มอบให้กับทางเขตสัมพันธวงศ์เพื่อใช้ประดับตกแต่งพื้นที่เป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชนทั่วไป 


เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ตำนานวัดพุทธเวียดนามคู่
กรุงรัตนโกสินทร์ 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 25 ธันวาคม 2567 

เคยเขียนถึงวัดของชาวไทยพุทธคือวัดปทุมคงคา วัดของขาวคริสต์คือวัดแม่พระลูกประคำ(กาลหว่าร์)และศาลเจ้าของชาวจีนทั้งศาลเจ้าโรงเกือกของจีนฮากกา ศาลเจ้าโจวซือกง ของจีนฮกเกี้ยน ศาลเจ้าไท้ฮัว ของจีนแต้จิ๋ว ฯลฯ มาถึงวัดของชาวญวนหรือชาวเวียดนามบ้าง เป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้วว่าประเทศจีนเคยครอบครองเวียดนามนานมากกว่า 1000 ปี ทำให้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของจีนแทรกซึมอยู่ในเวียดนามอีกด้วย

ในอดีตนั้นมีชาวญวนหรือชาวเวียดนามที่อพยพหนีภัยสงครามมาอาศัยอยู่ในละแวกตลาดน้อย และเยาวราชตั้งแต่สมัยของ องเชียงสือ กษัตริย์เวียดนามในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจูฬาโลก (รัชกาลที่ 1 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้โปรดสร้างวังให้ องเชียงสือ ประทับที่ใกล้ๆบริเวณตลาดน้อย ต่อมาองเชียงสือ หนีกลับไปกอบกู้อิสรภาพที่เวียดนามสถานที่ที่เป็นวังที่ประทับก็กลายเป็นสถานทูตโปรตุเกสในปัจจุบัน

ชาวญวนอพยพที่อยู่ในกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ได้สร้างวัดเป็นปฏิมากรรมแบบจีนแต่สร้างโดยชาวเวียดนามเพื่อเป็นที่ทำนุบำรุงยึดเหนี่ยวจิตใจในละแวกบริษัทของเราหลายวัดเช่น วัดชัยภูมิการาม ที่เยาวราชอยู่ใกล้ๆร้านอาหารที่โด่งดังถึง 3 ร้าน คือภัตตาคารตั้งใจอยู่ ภัตตาคารยิ้ม ยิ้ม และภัตตาคารนิวกวงเม้ง วัดนี้มีพระอุโบสถอยู่ที่ชั้น 7 วัดมงคลสมาคม อยู่ที่ถนนแปลงนาม วัดกุศลมาคร อยู่ใกล้ๆ ราชวงศ์ วัดโลกานุเคราะห์อยู่สำเพ็ง และยังมีวัดญวนที่อยู่ไกลออกไปอีกนิดคือวัดญวนสะพานขาว วัดญวนบางโพ

วัดญวนที่อยู่ใกล้ๆ บริษัทของเรามากที่สุดที่บางท่านอาจจะเดินผ่านแต่ไม่ทราบว่าคือวัดญวนคือวัด อุภัยราชบำรุง (วัดญวนตลาดน้อย) อยู่ที่ใกล้ๆปากซอยเจริญกรุง 20 ซึ่งวัดนี้เป็นคณะสงฆ์อนัมนิกาย

 เมื่อปีพุทธศักราช 2421 ได้โปรดให้บูรณะที่วัดนี้และพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดอุภัยราชบำรุง หมายถึงเป็นวัดที่พระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ภายในบริเวณวัดมีหน่อพระศรีมหาโพธิ์ที่รัฐบาลอินเดียถวายรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้พระราชทานหน่อพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่วัดจำนวน 1 ต้น และทรงเสด็จมาทรงพระสุหร่ายประพรมต้นพระศรีมหาโพธิ์ในพิธีฉลองวัดเมื่อปีพุทธศักราช 2420

ที่ในพระอุโบสถจะพบพระประธานปางสมาธิครองจีวรห่มเฉียงที่ไม่เหมือนทั่วๆไปคือพระอัครสาวกซ้ายขวาแทนที่จะเป็นพระโมคคัลลา พระสารีบุตรกลับเป็นพระมหากัสสปะและพระอานนท์  ด้านหลังของพระอุโบสถจะเป็นที่ประดิษฐานร่างของอดีตเจ้าอาวาสที่เสียชีวิตแล้วแต่ร่างกายยังไม่เน่าเปื่อยอีกด้วย

นอกจากต้นพระศรีมหาโพธิ์มีอายุเกือบ 150 ปี ที่ให้ความร่มรื่นแก่วัดแล้วยังมีฮวงซุ้ยของท่านเจ้าคุณโชฏึกราชเศรษฐี (ฟัก โชติกสวัสดิ์) ที่ทำนุบำรุงพระอารามเป็นอย่างดีและที่ใกล้ๆกันมีภูเขาบรรจุอัฐิของคุณหญิงสุ่นภริยาเจ้าคุณโชฏึก และอัฐิของคุณเจริญ โชติกสวัสดิ์ ธิดาซึ่งได้สร้างตึกแถวรวม 7 ห้องเพื่อให้เป็นศาสนสมบัติ สังเกตดูเหล็กดัดของหน้าต่างที่นี่จะไม่เหมือนใครเพราะดัดเป็นรูปกล้องถ่ายรูปสมัยโบราณแปลกตามาก

เดินเที่ยวชมวัดอุภัยราชบำรุงแล้วขอแนะนำให้เดินเข้าไปในซอยเจริญกรุง 20 ตรงมาจนสุดซอยเลี้ยวซ้ายจะพบร้านขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอยู่หน้าซอยดวงตะวันทางเข้าศาลเจ้า โจว ซือ กง ชื่อร้านเจ้เฮี้ยงของคุณจริยา ดอกไม้จีน ร้านนี้เป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาระดับตำนานเปิดมาถึง 3 รุ่นแล้ว สูตรการทำลูกชิ้นปลามาจากอากงซึ่งเป็นชาวซัวเถาที่ขึ้นชื่อลือชาในการทำลูกชิ้นปลาส่งขายทั่วโลกเพราะอยู่ติดทะเล จุดเด่นของลูกชิ้นปลาเจ้เฮี้ยงคือต้องทำสด ใหม่จากปลา3อย่างคือ ปลาอินทรี ปลาหางเหลือง และปลาดาบโดยจะขูดแต่เนื้อปลาล้วนๆปรุงรสด้วยพริกไทย และน้ำตาลไม่ผสมแป้งหรือสารเคมีใดๆนวดด้วยมือจะทำให้เนื้อของลูกชิ้นมีความเหนียวนุ่ม และกรอบไปพร้อมๆกัน ส่วนนำ้ซุปจะมีกลิ่นหอม หวานกลมกล่อมจากการต้มเคี่ยวเอียเล้งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 ที่ร้านเจ้เฮี้ยงมีทั้งฮื่อก๊วย ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง เกี๊ยวทอดกรอบ หมูหวาน เผือกทอดกรอบที่สำคัญคือทุกชามจะต้องใส่กากหมูทอดกรอบทุกเช้าด้วยตัวเองเท่านั้น ร้านนี้เปิดตั้งแต่เวลา 07.00 - 16.00 น. อย่าไปช่วงเวลาเที่ยงเพราะมีนักชิมที่รู้รสชาติว่าร้านเจ้เฮี้ยงอร่อยอย่างไรไปอุดหนุนกันแน่น ไปช่วงสายๆหรือบ่ายจะได้ชิมลูกชิ้นปลาอร่อยๆ ครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

 แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด
ธนาคารแห่งแรกของไทย 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 11 ธันวาคม 2567 

 ในอดีตสถานที่ที่บริษัทของเราตั้งอยู่เป็นแหล่งที่มีความเจริญและทันสมัยที่สุดในยุคนั้น จะเห็นได้จากมีท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งสถานกงสุลของต่างชาติและเพราะสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติซื้อของจากราษฏรไทยได้โดยตรงโดยเสียภาษีเพียงร้อยชักสามเท่านั้น ทำให้มีชาวต่างประเทศหลายเชื้อชาติมาตั้งห้างร้านกันมากในพระนคร

เมื่อเริ่มเปิดประตูการค้ากับประเทศตะวันตกทำให้มีธนาคารของชาวตะวันตกเข้ามาเปิดบริการลูกค้าของตนในพระนครเช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ ธนาคารอินโดจีน นอกจากนี้ในปี พ.ศ2431 ยังมีชาวอังกฤษคบคิดกันจะตั้ง”แบงก์หลวงกรุงสยาม”กำหนดทุนจดทะเบียน 1ล้านปอนด์สเตอริง โดยให้คนไทยซื้อหุ้นได้ไม่เกิน 50% ทำท่าว่าจะยึดการคลังของประเทศ ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จึงทรงดำริตรงกันที่จะตั้งสถาบันการเงินของไทยขึ้นบ้าง

ในที่สุดสถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทยก็เปิดขึ้นมาในวันที่4ตุลาคม พ.ศ 2447ในชื่อ “บุคคลัภย์” (Book Club) ใช้ตึกแถวของพระคลังข้างที่ ที่บ้านหม้อเป็นสำนักงานแห่งแรกโดยเบื้องหน้าเปิดเป็นห้องสมุด เบื้องหลังดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ บุคคลัภย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจึงเปิดเป็นธนาคารอย่างเต็มตัว โดยกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษจัดตั้งเป็น บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ดำเนินการเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2449 เป็นต้นมาและได้ยกย่องพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เป็น พระบิดาแห่งการธนาคารไทย

จากบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวเดนมาร์ก มีบันทึกไว้ว่าการก่อตั้ง ”แบงก์สยามกัมมาจล” ไม่ได้ราบรื่นนัก เนื่องจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ก่อตั้งบุคคลัภย์ในฐานะห้องสมุดแต่มีบริการรับฝากและยืมเงินเหมือนธนาคารทำให้ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจในฐานะเสนาบดีกระทรวงการคลังย้ายเงินของสยามจากธนาคารของอังกฤษมายังบุคคลัภย์ซึ่งเป็นธนาคารแฝงทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จำใจบังคมทูลลาออก

เมื่อแบงก์สยามกัมมาจล มีกิจการขยายตัวทำให้ต้องมีการขยายออฟฟิศ จึงย้ายที่ตั้งของธนาคารไปอยู่ที่ “ตลาดน้อย” เพราะมีทำเลดี ติดแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ใกล้แหล่งค้าขายใหญ่ๆอย่างเยาวราช สำเพ็ง มีคนไทยและจีนอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก

สถานที่ตั้งธนาคารแห่งใหม่เป็นแบบถุงเงินคือ ทางเข้าแคบปลายกว้าง โบราณถือกันว่า ช่วยให้เงินเข้าง่ายออกยาก ตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกผสมตะวันออกในบรรยากาศย้อนยุค เป็นอาคาร 2 ชั้นพร้อมชั้นใต้ดินภายในอาคารมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระรูปของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ช่องรับ ฝากเงินเหมือนโรงรับจำนำ มีส่วนจัดแสดงของใช้ในอดีต ฯลฯ โดยมีต้นไกรขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและจากสงครามโลกครั้งที่2 บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดเปลี่ยนชื่อตามนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลที่เปลี่ยนชื่อจาก ”สยาม”เป็น “ไทย” โดยเปลี่ยนมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ และยกเลิกคำว่า “กัมมาจล” ซึ่งแปลว่าการกระทำไม่เคลื่อนไหว ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะของธนาคารที่มีการหมุนเวียนตลอดเวลา

ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัด ถือว่าเป็นธนาคารของคนไทยธนาคารแรกที่ขยายสาขาไปภูมิภาคโดยได้ไปเช่าตึกสองชั้นของการรถไฟหลวงเปิดสาขาที่อำเภอทุ่งสง เพราะที่นั่นมีการจับจ่ายเงินกันเป็นจำนวนมากโดยมี นายอาภรณ์ กฤษณามระ เป็นผู้จัดการคนแรกและห้องที่ติดกันกับธนาคารก็คือห้องเช่าของบริษัท ยิบอินซอย จำกัดสาขาทุ่งสง

เชื่อได้ว่าธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัดจะต้องมีความผูกพันกับบริษัทยิบอินซอย จำกัดเป็นอย่างมากนอกจากจะเช่าห้องอยู่ติดกันแล้ว คุณอาภรณ์ กฤษณามระซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้เคยเขียนเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเวลาที่จะเบิกเงินจากสำนักงานใหญ่จะต้องไปรับเงินที่ไปรษณีย์ เวลาจะไปรับต้องไปกันทั้งสำนักงานต้องปิดบริษัทฝากให้บริษัท ยิบอินซอย จำกัดช่วยดูแล 
 
เสร็จจากการเที่ยวชมธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของประเทศไทยที่ตลาดน้อยแล้วบริเวณด้านหน้าของธนาคารมีของกินของอร่อยมากมายหลายอย่าง ที่จะขอแนะนำคือ จุ๋ยก๊วย ตลาดน้อย 100 ปี ของเจ๊หมวย ซึ่งขายเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว สมัยแรกๆใช้การหาบขายแต่สมัยนี้ตั้งเป็นที่เป็นทางอยู่ตรงด้านหน้าของธนาคารที่อยู่ระหว่างกรมเจ้าท่ากับวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) จุ๋ยก๊วยเป็นขนมทานเล่นของชาวจีน โดยนำแป้งข้าวเจ้ามานึ่งจนสุกโรยด้วยไชโป๊ที่คั่วในหม้อทองเหลืองจนสีเข้ม เวลาที่ขายเจ๊หมวยจะนึ่งตัวจุ๋ยก๊วยร้อนๆตักไชโป๊ใส่โรยด้วยพริกไทยและพริกนำ้ส้มใส่ ตักใส่ปากได้เลย อร่อยและแปลกดีขนมชนิดนี้หาทานยากมาก เด็กๆที่โรงเรียนกุหลาบวิทยาจะรู้จักกันดีทุกคนครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

 กาลหว่าร์ โบสถ์เก่าแก่ที่สุด
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 4 ธันวาคม 2567 

 บริษัทของเราเริ่มต้นตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2469 โดยจดทะเบียนในชื่อ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ยิบอินซอยแอนด์โก ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในปีพุทธศักราช2473 ได้ขยายฐานทำธุรกิจมาสู่พระนครจดทะเบียนในรูปบริษัทจำกัดเป็น บริษัทยิบอินซอย จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลปากคลองสาธร อำเภอบ้านทวาย ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของคณะผู้บริหารในสมัยนั้นได้ขยับขยายมาเช่าที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ปลายถนนมหาพฤฒารามเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานและโกดังสินค้าเสร็จในปีพุทธศักราช2492ซึ่งบริเวณนี้ถือว่าเป็นชัยภูมิทางการค้าที่เจริญและทันสมัยที่สุดย่านหนึ่งของพระนครในยุคนั้นเพราะเป็นถิ่นการค้าของชาวจีนและชาวต่างชาติแวดล้อมไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทั้งทางรถไฟ ทางนำ้ การสื่อสารทางไปรษณีย์อย่างครบครันรวมทั้งเป็นแหล่งที่ตั้งของบรรดาที่ทำการและสโมสรของชาวต่างชาติอย่างมากมายฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้นมีสถานกงสุลตั้งอยู่เรียงราย ที่สำคัญคือมีโบสถ์กาลหว่าร์ที่วัดแม่พระลูกประคำเป็นวัดคริสต์คู่กรุงรัตนโกสินทร์สวยงามเด่นสง่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา

โบสถ์กาลหว่าร์เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ทรงกอทิกตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 แขวงตลาดนัดยโบสถ์แห่งนี้ไม่ใช่โบสถ์หลังแรกแต่เป็นโบสถ์หลังที่3สร้างขึ้นเพื่อทดแทนโบสถ์หลังเดิมที่ถูกทิ้งร้างภายหลังเพลิงไหม้ใหญ่ในปีพ.ศ2407ถือว่าเป็นโบสถ์เก่าแก่ที่สุดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนอนุรักษ์เป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร

โบสถ์แห่งนี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือรูปปั้น2รูปซึ่งเป็นสมบัติเก่าแก่ตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่2ได้แก่ “รูปแม่พระลูกประคำ”และ “รูปพระศพของพระเยซูเจ้า”ยังคงเก็บรักษาและใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาจนถึงปัจจุบันนี้

โบสถ์หลังใหม่นี้มีความโอ่อ่าด้วยสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิกเป็นรูปกางเขนโรมันหันหน้าลงสู่แม่นำ้เจ้าพระยาตามผนังมีรูปปั้นนักบุญต่างๆและรูป14ภาคจากวัดนักบุญยอเซฟ ตำบลสำเภาล่ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โบสถ์กาลหว่าร์อยู่ติดกับโรงเรียนสตรีชินบ๊วยกุยและโรงเรียนชายชื่อ เทียนจู๋เจี้ยวเหมยกุ้ยเซียะ ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนกุหลาบวิทยา ทุกๆวันอาทิตย์จะมีพิธีมิสซา โดยจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาจีนแต้จิ๋ว ทราบว่าอีกไม่นานคงจะต้องเปลี่ยนเป็นภาษาจีนกลางเพราะคนที่ฟังภาษาจีนแต้จิ๋วลดน้อยลงไปทุกทีและมีนักท่องเที่ยวขาวจีนแวะมาทำพิธีมิสซามากขึ้น

เดินเที่ยวชมโบสถ์กาลหว่าร์และวัดแม่พระลูกประคำเสร็จเรียบร้อยแล้วขอแนะนำให้หาอาหารอร่อยๆใส่ท้องให้อิ่มก่อนบริเวณด้านหน้าของวัดก็มีของอร่อยๆหลายร้านแต่ร้านที่จะแนะนำให้ได้ทราบนี้ถือว่าเป็นร้านที่ลึกลับพอสมควรหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบร้านนี้ชื่อ ฮั่นโภชนาของเฮียฮั่น ทวีสกุลธนพฤทธิ์ ที่ว่าลึกลับนั้นก็คือ ร้านอยู่ที่ชั้น2ของอาคารกัลหว่าร์ วิธีเดินทางไปร้านก็คือต้องมาที่วงเวียนหน้ากรมเจ้าท่า มองเห็นร้านเซเว่นจะเห็นทางเดินเล็กๆด้านบนเขียนว่าอาคารกัลหว่าร์เดินไปจะพบทางเข้าอาคารมีพนักงานเฝ้าการเข้าออก เพราะร้านของเฮียฮั่นอยู่ที่ชั้น2เราต้องกดกริ่งด้านซ้ายมือจะมีเจ้าของร้านหรือภรรยาเฮียฮั่นเดินลงมาเปิดประตูให้ ต้องเดินตามขึ้นไปที่ชั้นสอง จะพบว่ามีโต๊ะแค่3โต๊ะเท่านั้น อาหารของเฮียฮั่นจะเป็นอาหารจีนแนวไหหลำมีเมนูไม่มากนัก แต่ละจานเฮียฮั่นจะลงมือเองโดยมีภรรยาเป็นผู้ช่วย อาหารอร่อยๆที่จะแนะนำก็เช่น ตับหมูทอดกระเทียม กุ้งทอดกระเทียม หมี่กรอบไหหลำ กุ้งผัดพริก มะระผัดไข่ที่จิ๊ดจ๊าดมากก็คือ ต้มยำกุ้ง มีมันกุ้งลอยฟ่องเชียว อร่อยมากอาหารแต่ละเมนูราคาจานละ90บาทร้านจะเปิดตั้งแต่เวลา11.00-18.00น.เพื่อประกันความผิดหวังควรโทรศัพท์ไปจองก่อนที่เบอร์ 0-2639-0196 จะอิ่มอย่างอร่อยครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ศาลเจ้า รอบๆ ยิบอินซอย

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 25 พฤศจิกายน 2567 

บริเวณรอบๆ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ของเรามีศาลเจ้าทั้งเล็กทั้งใหญ่มากมายหลายแห่ง ทั้งศาลเจ้าของจีนฮกเกี้ยน ฮากกา (จีนแคะ) ไหหลำ แต้จิ๋ว เช่น ที่บริเวณถนนมหาพฤฒารามก็มีศาลเจ้าไท้ฮัว อยู่ใกล้ๆ สะพานโสณบัณฑิตย์เป็นศาลเจ้าของจีนไหหลำ มีเจ้าแม่ไท้ฮัวซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักให้ขอพรเพื่อประสบความสำเร็จในเรื่องความรัก
 
ศาลเจ้าปึงเถ้าม่า เป็นศาลเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋วอยู่ที่ซอยสหมิตรขณะที่กำลังพิมพ์ต้นฉบับนี้กำลังมีการแสดงงิ้วพอดี
ศาลเจ้าซิกเซี้ยม่า (ศาลเจ้าเจ็ด) อยู่ที่ซอยเจริญกรุง 39 เป็นศาลเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋วและฮากกา เป็นศาลเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อแรกตัดถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในประดิษฐานองค์เจ้าแม่ซิกเซี้ยม่า เทพเจ้ากวนอูและองค์พระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิมอีกด้วย
 
ข้ามสะพานพิทยเสถียรมาทางฝั่งตลาดน้อยที่เป็นชุมชนริมแม่นำ้เจ้าพระยาเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ผ่านเวลายาวนานกว่า 200 ปี ก็มีศาลเจ้ามากมายหลายแห่งที่สำคัญและโด่งดังมากคือ ศาลเจ้าโรงเกือก อยู่ไม่ไกลจากกรมเจ้าท่า เดินเข้าไปในตรอกศาลเจ้าโรงเกือกผ่านร้านกาแฟ Mother Roaster ที่เป็นบ้านไม้ 2 ชั้นบริเวณหน้าร้านเด่นด้วยภาพวาดสีสวยสะดุดตามีเครื่องอาหลั่ยเก่าๆวางอยู่ในความมืดของชั้นล่างเดินขึ้นไปชั้น 2 ผลักประตูเข้าไปแล้วเหมือนกับอยู่คนละโลกมีลูกค้าเยอะแยะกลิ่นกาแฟหอมฟุ้งเชียว
 
เดินต่อไปอีกนิดด้านซ้ายมือริมแม่นำ้เจ้าพระยาเป็นศาลเจ้าของชาวจีนแคะ (ฮากกา) ในหมู่บ้านฮกเกี้ยนเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่รวมใจของชาวจีนแคะในชุมชนตลาดน้อยโดยพ่อค้าจีนชาวฮากกาได้เชิญองค์เจ้าพ่อ ฮ้อน กว่อง กุงมาประดิษฐานในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 100ปีก่อนที่จะมีการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้โดยศาลเจ้าโรงเกือกนี้ข้าราชการจะนับถือมาก
 
ชาวจีนแคะในย่านตลาดน้อยส่วนใหญ่จะมีความชำนาญในเครื่องเหล็ก การตีเหล็ก คำว่าเกือกที่ว่าไม่ได้หมายถึงรองเท้าของผู้คนแต่คงจะหมายถึง เกือกม้า ที่สมัยก่อนเมืองไทยมีรถม้าหลายคัน เดินตามซอยต่อไปอีกนิดก็จะพบซุ้มประตูจีนสีแดงเป็นคฤหาสน์จีนแบบสี่เรือนล้อมลานชื่อ โซว เฮง ไถ่ของพระอภัยวานิช (จาต) โปษยะจินดานายอากรรังนก ปัจจุบันเจ้าของบ้านเป็นทายาทรุ่นที่ 7 คือคุณดวงตะวัน (หงอสุวรรณ) โปษยะจินดาได้เล่าให้ฟังว่า หลานหลายคนของบ้านนี้ก็ทำงานที่บริษัท ยิบอินซอย ด้วย
 
เดินต่อไปอีกนิดก็จะพบศาลเจ้า โจว ซือ กง (วัดชุนเล่งยี่) เป็นสถาปัตยกรรมของชาวฮกเกี้ยนสร้างในสมัยรัชกาลที่1เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวตลาดน้อยซึ่งเป็นหนึ่งในเก้าของศาลเจ้าในประเทศไทยที่ชาวไต้หวันจะต้องบินมาขอพรองค์เทพเจ้าและนิยมมาฝากดวงเพื่อให้เทพเจ้าช่วยคุ้มครองให้จะมีคนมาฝากดวงกันเยอะมากโดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำวิธีฝากดวงให้ด้วย
 
เทพเจ้า โจว ซือ กง มีลักษณะเด่นคือ ทั้งองค์เป็นสีเปลือกมังคุดมีชื่อเสียงในด้านสุขภาพ ไหว้ขอพรเทพเจ้าแต่ละแห่งเสร็จเรียบร้อยแล้วขอแนะนำให้เดินย้อนกลับมาที่ตรงวงเวียนหน้าวัดแม่พระลูกประคำจะมีอาหาร ขนมขายเรียงรายอยู่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น มีร้านขายขนมครกอร่อย เป็นขนมครกกะทิสดเจ้าเก่าย่านตลาดน้อยแป้งกรอบบาง หอมกะทิสดอร่อยดีครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วัดปทุมคงคา 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 20 พฤศจิกายน 2567 

มื่อมีการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและสร้างพระบรมมหาราชวังบนฝั่งตะวันออกของแม่นำ้เจ้าพระยาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่1)ได้โปรดฯให้อพยพครอบครัวชาวจีนที่เคยอยู่บริเวณนั้นไปตั้งบ้านเรือนที่ใกล้วัดสามปลื้มปากคลองสำเพ็ง ซึ่งชาวจีนที่อพยพไปก็ได้ทำที่พักอาศัยและทำการค้าตามถนัด โดยได้สร้างบ้านเรือนอยู่กันอย่างหนาแน่นชนิดที่เรียกกันว่า ไก่บินไม่ตกพื้น เมื่อเกิดมีไฟไหม้ขึ้นก็จะเกิดความเสียหายอย่างมากมายรุนแรงจึงมีคำพูดที่ติดปากกันว่า ไฟไหม้สำเพ็ง 

นอกจากสำเพ็งจะเป็นย่านการค้าที่หลากหลายแล้วยังมีชื่อเสียงในด้านโลกีย์ คือมีทั้งโรงโสเภณี บ่อนพนันฯลฯจึงมีคำด่าผู้หญิงที่ถือว่ารุนแรงมากคือคำว่า สำเพ็ง ที่หมายถึงผู้หญิงที่ทำมาค้าขายทางด้านโลกีย์
 
เมื่อสำเพ็งมีผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นบางส่วนก็ขยับขยายลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงย่านตลาดน้อย ต่อมาธุรกิจทางด้านเรือสำเภาเพื่อทำการค้ารุ่งเรืองมากมีท่าเรือริมนำ้มากมายหลายแห่งซึ่งปัจจุบันนี้ท่าเรือก็ยังคงมีอยู่ พ่อค้าชาวจีนที่มั่งคั่งจากการค้าทางด้านเรือสำเภาก็ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางรวมทั้งพระอภัยวานิช(จาค)ชาวจีนฮกเกี้ยนได้เป็นนายอากรรังนก ซึ่งพระอภัยวานิชได้สร้างอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนฮกเกี้ยนขึ้นหมู่หนึ่งเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยใช้ชื่อว่า บ้าน โซว เฮง ไถ่ เป็นอาคารแบบสี่เรือนล้อมลาน  ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของตลาดน้อยที่ใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะชมเพราะเป็นบ้านที่มีอายุมากกว่า 230 ปี คิดดูก็แล้วกันว่าในสมัยนั้นบ้านนี้จะสวยงาม หรูหรามากขนาดไหน 

ทางเข้าบ้าน โซว เฮง ไถ่จะเป็นซุ้มประตูสีแดงมีภาพวาดทั้งด้านนอกและด้านใน เมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้วจะพบภาพอาคารเป็นสี่เรือนล้อมลานกว้างซึ่งปัจจุบันนี้ทายาทของเจ้าสัวจาคนับเป็นรุ่นที่8ได้ทำเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ ภายในบริเวณบ้านจะมีร้านคาเฟ่เล็กๆขายกาแฟและเครื่องดื่มแต่จำกัด 1 คนต่อ 1 order เท่านั้นเช่น บ๊วยน้ำผึ้ง พีชนำ้ผึ้ง แอปเปิลน้ำผึ้ง ชาและกาแฟฯลฯโดยมีที่นั่งให้เลือกนั่งตามใจชอบทั้งด้านล่างและชั้นบนแต่เวลาเดินขึ้นชั้นบนต้องระมัดระวังนิดหนึ่งเพราะตัวบ้านนั้นเก่ามาก นั่งจิบเครื่องดื่มมองถึงความยิ่งใหญ่ในสมัยก่อนว่าบ้านหลังนี้จะสวยงามระดับใด 

เจ้าของบ้านหลังนี้คือต้นตระกูล โปษยะจินดา ครับ เที่ยวชมบ้าน โซว เฮง ไถ่ เสร็จแล้วถึงเวลาอาหารก็เดินย้อนกลับมายังต้นซอยศาลเจ้าพ่อโรงเกือกระหว่าที่เดินก็จะเห็นริมกำแพงต่างๆเป็น Street Art หลากหลายที่สวยงามแปลกตารับประกันได้เลยว่าจะต้องหยุดถ่ายรูปหลายช่วงเชียว มาถึงหน้าปากซอยจะพบวิทยาลัยสารพัดช่างสาขาเอี่ยมละออ ซึ่งที่ดินแปลงนี้คุณนายละออว่ากันว่าเป็นหลานๆของเจ้าสัวจาคได้บริจาคที่ดินให้ฝั่งตรงข้ามคือร้าน เป็ดตุ๋นเจ้าท่า ที่จะแนะนำให้ชิม

ร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่านี้เจ้าของคืออาม่าน้อยเป็นคนรังสิตเคยเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมาตั้งแต่เด็กๆจึงรู้เรื่องเป็ดได้เป็นอย่างดีเมื่อเปิดร้านขายเป็ดอยู่หน้ากรมเจ้าท่าก็เลยตั้งชื่อตามสถานที่ราชการเสียเลย อาม่าน้อยบอกว่าเปิดร้านขายเป็ดมา50กว่าปีนำ้เชื้อในหม้อจะยังอยู่ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านจะทำไว้เป็นหัวเชื้อซึ่งเป็นสูตรลับของอาม่าน้อย ส่วนเป็ดจะต้องเลือกใช้แต่เป็ดโป๊ยฉ่ายเท่านั้นเพราะหนังเป็ดจะบางไม่มีมัน นำ้พะโล้จะไม่หวานมากแต่จะหอมกลมกล่อม เนื้อเป็ดจะไม่เหนียวแต่จะนุ่มถ้าสั่งข้าวหน้าเป็ดจะมีนำ้ซุปมาให้ด้วย ส่วนเป็ดตุ๋นนั้นเนื้อเป็ดจะยุ่ยจนแทบจะละลายในปากเขียว ถ้าฟันดีๆสั่งไส้แก้วมาสักจาน อร่อยดีครับ

นอกจากเป็ดอร่อยแล้วอาม่าน้อยยังมีห่านพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวคั่ว กะเพราราดข้าว ที่พลาดไม่ได้คือ หมี่ผัดกระเฉด ไม่ทราบว่าผัดอย่างไรเส้นหมี่ดูดนำ้ซุปจนนุ่มอร่อยส่วนผักกระเฉดนั้นอาม่าน้อยจะเลือกตรงยอดอ่อนๆถ้าไปที่ร้านช่วงสายๆจะพบพนักงานนั่งเด็ดผักกระเฉดอยู่บริเวณหน้าร้านด้วย วิธีไปเที่ยวชมบ้าน โซว เฮง ไถ่และร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่าก็เข้าทางซอยเจริญกรุง 22 หรือซอยโยธาหาวิทยาลัยสารพัดช่างให้พบแต่ละแห่งก็อยู่ใกล้ๆกันครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

บ้านคหบดีจีนโบราณ
โซว เฮง ไถ่ 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 12 พฤศจิกายน 2567 

มื่อมีการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีและสร้างพระบรมมหาราชวังบนฝั่งตะวันออกของแม่นำ้เจ้าพระยาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่1)ได้โปรดฯให้อพยพครอบครัวชาวจีนที่เคยอยู่บริเวณนั้นไปตั้งบ้านเรือนที่ใกล้วัดสามปลื้มปากคลองสำเพ็ง ซึ่งชาวจีนที่อพยพไปก็ได้ทำที่พักอาศัยและทำการค้าตามถนัด โดยได้สร้างบ้านเรือนอยู่กันอย่างหนาแน่นชนิดที่เรียกกันว่า ไก่บินไม่ตกพื้น เมื่อเกิดมีไฟไหม้ขึ้นก็จะเกิดความเสียหายอย่างมากมายรุนแรงจึงมีคำพูดที่ติดปากกันว่า ไฟไหม้สำเพ็ง 

นอกจากสำเพ็งจะเป็นย่านการค้าที่หลากหลายแล้วยังมีชื่อเสียงในด้านโลกีย์ คือมีทั้งโรงโสเภณี บ่อนพนันฯลฯจึงมีคำด่าผู้หญิงที่ถือว่ารุนแรงมากคือคำว่า สำเพ็ง ที่หมายถึงผู้หญิงที่ทำมาค้าขายทางด้านโลกีย์
 
เมื่อสำเพ็งมีผู้คนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่นบางส่วนก็ขยับขยายลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงย่านตลาดน้อย ต่อมาธุรกิจทางด้านเรือสำเภาเพื่อทำการค้ารุ่งเรืองมากมีท่าเรือริมนำ้มากมายหลายแห่งซึ่งปัจจุบันนี้ท่าเรือก็ยังคงมีอยู่ พ่อค้าชาวจีนที่มั่งคั่งจากการค้าทางด้านเรือสำเภาก็ได้เข้ารับราชการเป็นขุนนางรวมทั้งพระอภัยวานิช(จาค)ชาวจีนฮกเกี้ยนได้เป็นนายอากรรังนก ซึ่งพระอภัยวานิชได้สร้างอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนฮกเกี้ยนขึ้นหมู่หนึ่งเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยใช้ชื่อว่า บ้าน โซว เฮง ไถ่ เป็นอาคารแบบสี่เรือนล้อมลาน  ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของตลาดน้อยที่ใครผ่านไปผ่านมาต้องแวะชมเพราะเป็นบ้านที่มีอายุมากกว่า 230 ปี คิดดูก็แล้วกันว่าในสมัยนั้นบ้านนี้จะสวยงาม หรูหรามากขนาดไหน 

ทางเข้าบ้าน โซว เฮง ไถ่จะเป็นซุ้มประตูสีแดงมีภาพวาดทั้งด้านนอกและด้านใน เมื่อเปิดประตูเข้าไปแล้วจะพบภาพอาคารเป็นสี่เรือนล้อมลานกว้างซึ่งปัจจุบันนี้ทายาทของเจ้าสัวจาคนับเป็นรุ่นที่8ได้ทำเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ ภายในบริเวณบ้านจะมีร้านคาเฟ่เล็กๆขายกาแฟและเครื่องดื่มแต่จำกัด 1 คนต่อ 1 order เท่านั้นเช่น บ๊วยน้ำผึ้ง พีชนำ้ผึ้ง แอปเปิลน้ำผึ้ง ชาและกาแฟฯลฯโดยมีที่นั่งให้เลือกนั่งตามใจชอบทั้งด้านล่างและชั้นบนแต่เวลาเดินขึ้นชั้นบนต้องระมัดระวังนิดหนึ่งเพราะตัวบ้านนั้นเก่ามาก นั่งจิบเครื่องดื่มมองถึงความยิ่งใหญ่ในสมัยก่อนว่าบ้านหลังนี้จะสวยงามระดับใด 

เจ้าของบ้านหลังนี้คือต้นตระกูล โปษยะจินดา ครับ เที่ยวชมบ้าน โซว เฮง ไถ่ เสร็จแล้วถึงเวลาอาหารก็เดินย้อนกลับมายังต้นซอยศาลเจ้าพ่อโรงเกือกระหว่าที่เดินก็จะเห็นริมกำแพงต่างๆเป็น Street Art หลากหลายที่สวยงามแปลกตารับประกันได้เลยว่าจะต้องหยุดถ่ายรูปหลายช่วงเชียว มาถึงหน้าปากซอยจะพบวิทยาลัยสารพัดช่างสาขาเอี่ยมละออ ซึ่งที่ดินแปลงนี้คุณนายละออว่ากันว่าเป็นหลานๆของเจ้าสัวจาคได้บริจาคที่ดินให้ฝั่งตรงข้ามคือร้าน เป็ดตุ๋นเจ้าท่า ที่จะแนะนำให้ชิม

ร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่านี้เจ้าของคืออาม่าน้อยเป็นคนรังสิตเคยเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งมาตั้งแต่เด็กๆจึงรู้เรื่องเป็ดได้เป็นอย่างดีเมื่อเปิดร้านขายเป็ดอยู่หน้ากรมเจ้าท่าก็เลยตั้งชื่อตามสถานที่ราชการเสียเลย อาม่าน้อยบอกว่าเปิดร้านขายเป็ดมา50กว่าปีนำ้เชื้อในหม้อจะยังอยู่ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านจะทำไว้เป็นหัวเชื้อซึ่งเป็นสูตรลับของอาม่าน้อย ส่วนเป็ดจะต้องเลือกใช้แต่เป็ดโป๊ยฉ่ายเท่านั้นเพราะหนังเป็ดจะบางไม่มีมัน นำ้พะโล้จะไม่หวานมากแต่จะหอมกลมกล่อม เนื้อเป็ดจะไม่เหนียวแต่จะนุ่มถ้าสั่งข้าวหน้าเป็ดจะมีนำ้ซุปมาให้ด้วย ส่วนเป็ดตุ๋นนั้นเนื้อเป็ดจะยุ่ยจนแทบจะละลายในปากเขียว ถ้าฟันดีๆสั่งไส้แก้วมาสักจาน อร่อยดีครับ

นอกจากเป็ดอร่อยแล้วอาม่าน้อยยังมีห่านพะโล้ ก๋วยเตี๋ยวคั่ว กะเพราราดข้าว ที่พลาดไม่ได้คือ หมี่ผัดกระเฉด ไม่ทราบว่าผัดอย่างไรเส้นหมี่ดูดนำ้ซุปจนนุ่มอร่อยส่วนผักกระเฉดนั้นอาม่าน้อยจะเลือกตรงยอดอ่อนๆถ้าไปที่ร้านช่วงสายๆจะพบพนักงานนั่งเด็ดผักกระเฉดอยู่บริเวณหน้าร้านด้วย วิธีไปเที่ยวชมบ้าน โซว เฮง ไถ่และร้านเป็ดตุ๋นเจ้าท่าก็เข้าทางซอยเจริญกรุง 22 หรือซอยโยธาหาวิทยาลัยสารพัดช่างให้พบแต่ละแห่งก็อยู่ใกล้ๆกันครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ตลาดน้อย จากย่านจีนเก่าสู่
แหล่งท่องเที่ยวใหม่ 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 6 พฤศจิกายน 2567 

บริษัทของเราตั้งอยู่ละแวกใกล้ๆตลาดน้อยหรือที่คนสมัยก่อนเรียกกันว่า ตะลัคเกี้ยะ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่ของชาวจีนมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นได้จากตลาดน้อยมีคนจีนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีศาลเจ้าทั้งเล็กทั้งใหญ่อยู่หลายแห่ง ศาลเจ้าที่สำคัญคือ ศาลเจ้า โจวซือกง มีอายุมากกว่า 200 ปี 

ในละแวกตลาดน้อยนั้นเราจะพบนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่บางกลุ่มก็เดินบางกลุ่มก็เข่ารถจักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิตของชุมชนเก่าย่านตลาดน้อยเที่ยวชมบ้านคหบดีชาวจีนซึ่งเป็นบ้านแบบโบราณที่ยังคงความสวยงามอยู่โดยเจ้าของบ้านโชว เฮงไถ่นั้นคือต้นตระกูล โปษยะจินดา ซึ่งเจ้าของบ้านเป็นทายาทรุ่นที่8ยังดูแลรักษาให้คงสภาพเหมือนเดิม ตามกำแพงของแต่ละซอยเล็กซอยน้อยจะมีภาพงานศิลปะแนวสตรีทอาร์ททั้งงานเก่าและงานใหม่จากฝีมือของศิลปินที่มาจาก Street Art และที่อยู่อาศัยของชาวจีนทั่วๆไปรวมทั้งร้านค้าของคนจีนเก๋ๆแบบดั้งเดิมที่หาดูที่ไหนไม่ได้ง่ายๆนัก 

นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้วละแวกตลาดน้อยยังขึ้นชื่อลือชาในด้านอาหารอร่อยๆที่มีอยู่มากมาย จะเขียนให้ทราบได้หมดคงจะต้องใช้เนื้อที่มากเช่น ร้านเป็ดตุ๋นกรมเจ้าท่าที่ขายทั้งเป็ดพะโล้และเป็ดตุ๋น ก๋วยเตี๋ยวรู ที่ได้รับรางวัลเชลล์ชวนชิมจาก ม.ร.ว ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ นักชิมผู้โด่งดังที่ล่วงลับไปแล้ว ที่นี่จะมีหมูแดงที่ทำเหมือนหมูย่างเนื้อฉ่ำๆอร่อยมาก ร้าน Ros Master ร้านกาแฟยอดฮิตที่ด้านล่างเป็นเหมือนที่ทิ้งขยะเครื่องเหล็กต่างๆแต่เมื่อขึ้นมาที่ชั้นสองแล้วเหมือนกับอยู่คนละโลกกับเบื้องล่าง ที่ร้านนี้กาแฟอร่อยมากหนำซ้ำบรรยากาศไม่เหมือนที่ไหนๆอีกด้วย นอกจากนั้นยังมี ขนมปังปิ้งเตาถ่านป้าไน้ มีหน้าให้เลือกหลายอย่างเช่น พริกเผากุนเชียง ที่นำ้พริกเผาจะเข้มข้นมาก กะหรี่ปั๊บคุณปุ๊ มีหลายไส้ให้เลือกชิม ขนมครกกะทิสด ที่แป้งกรอบบาง หอมกะทิ เป็นตำรับไทยแท้มีลูกค้าได้ชิมแล้วประทับใจถึงกับขอซื้อกลับไปกินต่อที่ประเทศอังกฤษเชียวฯลฯ

สำหรับนักชิมที่ชื่นชอบอาหารจีนกวางตุ้งจะพลาดร้านนี้ไม่ได้อย่างเด็ดขาดคือ ภัตตาคารกว้านสิ่วกี่  ร้านนี้เปิดมานานกว่า 70 ปีแล้วเป็นร้านจีนเก่าแก่สไตล์ฮ่องกง ร้านอยู่ใกล้ๆธนาคารกรุงเทพ เริ่มต้นจากคุณกว้านสิ่วกี่ อพยพเสื่อผืนหมอนใบมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่เมืองไทย แรกๆที่เข้ามาก็ประกอบอาชีพเข็นรถขายบะหมี่อยู่ที่ย่านตลาดน้อยแห่งนี้ขายดิบขายดีจนเก็บเงินซื้อตึกแถวริมถนนเจริญกรุง 1คูหาแต่ด้านในกว้างขวางหลายคูหาใช้ชื่อตัวเองเป็นชื่อร้าน โดยเมนูทุกอย่างของร้านจะทำเองทั้งนั้น ที่ขึ้นชื่อลือชามาที่ร้านนี้แล้วพลาดไม่ได้คือ ติ่มซำ จะเป็นรถเข็นแบบสมัยก่อนมีพนักงานเข็นรถที่มีติ่มซำร้อนๆให้เลือก เช่นขนมจีบกุ้งเนื้อกุ้งจะแน่น เด้งเพราะความสด ฮะเก๋า เป็ดย่าง หมูแดง หมูกรอบ ทางที่ดีสั่งทุกอย่างรวมกันในจานเดียวก็จะอร่อยหลากหลายครับ สุดท้ายต้องสั่ง โกยซีหมี่มาชิมอร่อยมาก

ส่วนของหวานของร้านกว้านสิ่วกี่ นั้นมีขายอยู่ในตู้บริเวณหน้าร้านที่พลาดไม่ได้คือ คุกกี้จีนหรือขนมหน้าแตกไส้โหงวยิ้ง แปลกและอร่อยดี  ที่แปลกอีกอย่างไม่เหมือนที่ไหนๆก็คือ ด้านผนังภายในร้านแทนที่จะทาสีหรือเป็นปูนเปลือยแต่ที่นี่กลับใช้โมเสกแผ่นเล็กๆแปะติดกับผนังแทน ทำให้ไม่ต้องทาสีตลอดไป สอบถามเจ๊เจ้าของร้านก็ได้ความว่าคุณกว้านสิ่วกี่มีเพื่อนขายโมเสกให้มาเลยเอามาติดผนังเสียเลย ขอกระซิบอีกนิดเจ้าของร้านบอกว่า สมัยก่อนที่นี่เถ้าแก่ของยิบอินซอยพาภรรยามานั่งกินอาหารที่นี่บ่อยๆครับ แต่ละซอยเล็กซอยน้อย 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

สะพานนี้จงสวัสดี

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 16 ตุลาคม 2567 

 ถนนมหาพฤฒารามที่ผ่านหน้าบริษัท ยิบอินซอย จำกัดของเราเป็นถนนสายสั้นๆเชื่อมระหว่างถนนพระราม4 ตรงหัวลำโพงและถนนเจริญกรุงตรงสะพานพิทยเสถียร ที่ถนนนี้ผู้ที่บริหารบริษัทของเราในอดีตมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลเลือกทำเลที่ตั้งบริษัทในสถานที่ที่เป็นชัยภูมิการค้าและทันสมัยที่สุดของพระนครในยุคนั้นเพราะเป็นถิ่นการค้าของชาวจีนและชาวต่างชาติแวดล้อมไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทั้งทางรถไฟ ทางน้ำรวมทั้งการสื่อสารทางไปรษณีย์อย่างครบครัน

  นอกจากนั้นแล้วในย่านนี้ยังเป็นดงจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย อาจารย์นำชัย เล่าเรียนธรรมอดีตอาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญเจ้าของร้านสุขภัณฑ์สินสมบูรณ์เซรามิกซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่3 ได้เล่าให้ฟังว่า ร้านเปิดขายเครื่องสุขภัณฑ์มานานกว่า 70ปี ในสมัยก่อนนั้นใครจะหาซื้อเครื่องสุขภัณฑ์ต้องมาที่ละแวกนี้แห่งเดียวเท่านั้น ถ้ามาจากต่างจังหวัดก็ลงรถไฟที่หัวลำโพงแล้วเดินมาดูสั่งของเสร็จก็นั่งรถไฟกลับหรือถ้ากลับไม่ทันก็นอนค้างที่โรงแรมศรีกรุง ตรงหัวลำโพงส่วนของที่สั่งทางร้านก็จะส่งตามไปให้โดยทางรถไฟหรือรถสิบล้อ

    ร้านสินสมบูรณ์เซรามิกของอาจารย์นำชัยอยู่เยื้องๆกับสะพานนี้จงสวัสดี ซึ่งสมัยก่อนจะเป็นสะพานไม้ใหญ่โค้งยกสูงเพื่อให้เรือที่มาค้าขายสินค้าประเภท ก๋วยเตี๋ยว กาแฟ หม้อ โอ่ง ไหและผัก ผลไม้จากตลาดเทเวศร์ผ่านไปท่าน้ำสี่พระยาได้และเพื่อให้รถยนต์6ล้อของโรงนำ้แข็งที่อยู่ใกล้ๆสะพานผ่านไปมาได้

    ต่อมาได้รื้อสะพานไม้เปลี่ยนเป็นสะพานปูนแต่ก็ยังต้องยกสูงเหมือนเดิม อาจารย์นำชัยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นเรียกสะพานนี้ว่า  สะพานปราบเซียน คือถ้าใครขับรถข้ามสะพานนี้ได้ต้องมีฝีมือ พวกที่จะไปสอบใบขับขี่ ถ้าขับรถยนต์ผ่านสะพานนี้ได้ถือว่าสอบผ่าน เพราะว่าปีหนึ่งๆจะเกิดอุบัติเหตุจากสะพานนี้บ่อยมาก เพราะความที่สะพานยกสูงชันเวลาช่วงลงสะพานเบรคไม่ทันก็วิ่งเข้าไปในร้านที่อยู่ตรงกันข้ามสะพานซึ่งก็เป็นโรงพิมพ์เข้าไปทั้งคันเห็นแต่ท้ายรถโผล่ออกมา ส่วนมากรถที่เกิดอุบัติเหตุจะเป็นรถเมล์สาย 1 วิ่งระหว่างถนนตก - ท่าเตียน ต่อมาภายหลังสะพานยกสูงได้รื้อเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีตราบไปกับพื้นถนนจึงไม่มีอุบัติเหตุอีกแต่ก็ทำให้เรือที่จะมาค้าขายผ่านไปมาไม่ได้

   เล่าเรื่องเก่าๆ แล้วก็แถมให้อีกนิดจากคุณเจียม ทับทอง ผู้ที่อาวุโสสูงสุดของบริษัทที่สมัยก่อนนั้นสะพานพิทยเสถียรจะมีรถรางใช้ไฟฟ้าวิ่งผ่านจากถนนตกไปสนามหลวงตามถนนเจริญกรุง รถรางจะมี2ตู้ ตู้แรกอยู่ด้านหน้าเก็บค่าโดยสารคนละ 50 สตางค์ ถือว่าเป็นชั้นพิเศษมีเบาะนั่งส่วนตู้หลังชั้นธรรมดาเป็นที่นั่งไม้ เก็บค่าโดยสาร คนละ 25 สตางค์นั่งไปเรื่อยๆจะคันยิบๆเพราะส่วนมากจะมีตัวเลือดออกมาจากช่องว่างระหว่างไม้ออกมากัดกินเลือดของเรา รถรางนี้ทางราชการได้เลิกเดินอย่างเด็ดขาดเมื่อปี พ.ศ 2511 เพราะผู้โดยสารมีทางเลือกที่ดีกว่า 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วันนวมินทรมหาราช

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 9 ตุลาคม 2567 

วันที่ 13 ตุลาคมเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดชื่อวันนี้ว่า วันนวมินทรมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ขอเล่าถึง มัจฉาพระราชทานคือ
ปลานิล เป็นปลาที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต 

เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้นำลูกปลาจากแม่นำ้ไนล์จำนวน50ตัวมาถวายองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2508 พระองค์ก็ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูอย่างดีโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำปลาไปเลี้ยงในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือนเศษ ปรากฎว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากพอที่จะแข็งแรงเป็นปลาสำหรับขยายพันธ์ุได้
ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานลูกปลาจำนวน 10,000 ตัวจากบ่อดินบริเวณพระตำหนักจิตรลดาแก่กรมประมงเพื่อนำไปขยายพันธ์ุและสถานีประมงต่างๆ15แห่งทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนได้เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายต่อไปและได้ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า ปลานิลจิตรลดา
    
ปลานิล ถือว่าเป็นปลาเพื่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง อุดมไปด้วยโปรตีน มีไขมันน้อย ฯลฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้ย้ายไปไว้ที่อื่น โดยไม่ทรงรับสั่งอะไรเลย จนวันหนึ่งมีผู้กล้าหาญชาญชัยกราบบังคมทูลถามพระองค์ว่า เพราะเหตุใดจึงไม่โปรดเสวยปลานิล มีรับสั่งว่า “ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”

ปัจจุบันปลานิลถือว่าเป็นปลาเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่ผู้ที่เลี้ยงอย่างมากมายมหาศาล ถือว่าเป็นพันธุ์ปลาพระราชทานที่มาจากพระปรีชาญาณที่ทรงเห็นการณ์ไกลของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐทุกๆด้าน

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

เทศกาลกินเจ 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 1 ตุลาคม 2567 

เดือนตุลาคมนี้นอกจากจะเป็นวันที่บรรดาข้าราชการที่เกษียณอายุจะอยู่บ้านโดยไม่ต้องออกไปทำงานเหมือนปกติแล้ว วันที่13ตุลาคมยังเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่9 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อวันที่13ตุลาคมของทุกปีเป็นวัน นวมินทรมหาราช

ที่สำคัญในเดือนตุลาคมนี้คือ เทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับวันขึ้น1คำ่ถึง9คำ่เดือน9ตามปฎิทินแบบจันทรคติของจีนซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่3-11เดือนตุลาคม โดยเฉพาะผู้ที่เคร่งครัดกว่าปกติก็จะกินเจล่วงหน้า1-2วันเพื่อล้างท้องชำระร่างกายให้สะอาดจากการที่กินเนื้อสัตว์มาตลอดทั้งปี ซึ่งก่อนที่จะกินเจต้องตั้งจิตอธิษฐานให้กินเจได้อย่างตลอดรอดฝั่ง บางคนก็ทำสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างเพราะเมื่อได้เห็นอาหารอร่อยๆที่คุ้นเคยมาเย้ายวนต่อหน้าต่อตาจนอดใจไม่ไหวเกิดอาการ เจแตก ไม่สำเร็จก็มีไม่น้อย

ประวัติของการกินเจมีเรื่องเล่ากันหลายตำนานแต่ที่เล่ากันอย่างแพร่หลายนั้นเชื่อกันว่า การกินเจเริ่มต้นในสมัยกองทัพแมนจูเข้ามาปกครองชาวจีนทำให้กลุ่มกองกำลังชาวบ้านที่ชื่อว่า หงี่หั่วท้วง รวมตัวกันต่อต้านกองทัพแมนจูโดยแสดงออกผ่านการถือศีลอด งดกินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน นุ่งขาวห่มขาวประกอบพิธีกรรมบริกรรมคาถาตามความเชื่อแต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพแมนจู โดยผู้นำทั้ง 9คนถูกจับไปประหารชีวิต ทำให้นับแต่นั้นมาชาวจีนจึงร่วมกันถือศีลอดในเดือน9เป็นเวลา9วันเพื่อรำลึกถึงกลุ่ม หงี่หั่วท้วง ในอดีต

ในเทศกาลกินเจนี้ จะพบเห็นธงที่มีพื้นเป็นสีเหลืองบนธงจะมีตัวอักษรสีแดงอ่านว่า เจ มีความหมายว่า ของไม่มีคาว เรียงรายตามร้านอาหารต่างๆที่ขายอาหารเจโดยเฉพาะย่านตลาดน้อยใกล้ๆบริษัทของเราก็จะพบเห็นมากเพราะเป็นย่านที่อยู่อาศัยของคนไทยเชื้อสายจีน

มีข่าวดีสำหรับชาวยิบอินซอยที่จะถือศีลกินเจในเทศกาลกินเจที่จะถึงนี้ ป้ากบ วิลาวรรณ สะสมจากครัวใบไม้ของเราได้จัดอาหารเจที่ถูกประเพณีปฎิบัติให้บริการตั้งแต่วันที่ 2-11 เดือนตุลาคม โดยเมนูอาหารเจแต่ละเมนูได้คัดเลือกแล้วคัดเลือกอีกในเรื่องรสชาติความอร่อย

หรือถ้าได้มีโอกาสผ่านไปที่ตลาด อ.ต.ก. จตุจักรขอแนะนำให้แวะไปที่โซนตลาดนำ้เพราะที่นั่นบริษัท ใบไม้ในเมือง จำกัดมีบูธขายอาหารในชื่อ ใบไม้ในเมือง วิสาหกิจเพื่อสังคม ในช่วงเทศกาลเจที่จะถึงนี้ มีอาหารเจอร่อยๆมากมายหลายเมนูเช่น ขนมจีนนำ้ยาเจ จากเต้าหู้และเห็ดสามอย่าง ทั้งเห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เห็ดออรินจิ ทอดมันหัวปลีพร้อมนำ้จิ้มถั่วรสชาติอร่อย  เต้าหู้ทอด ข้าวยำเจ ฯลฯ

ขอเอาใจช่วยให้ผู้ที่อธิษฐานเจผ่านไปได้อย่างตลอดรอดฝั่งครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ศุลกสถานโฉมใหม่

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 11 กันยายน 2567 

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา มีข่าวว่าใกล้ๆกับบริษัทของเราจะมีโรงแรมระดับ 5 ดาวเกิดขึ้นใหม่ที่ซอยเจริญกรุง 36 ชื่อ เดอะ แลงแฮม แบงค็อก (The Langham BangKoK) เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวมีกำหนดเปิดบริการประมาณกลางปี พ.ศ 2568
 
ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ราชพัสดุ เป็นอาคารโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมมากกว่า130ปี ในอดีตคือ ศุลกสถาน โรงภาษีร้อยชัก3หรือโรงภาษีเก่า เป็นอาคารที่ทำการของศุลกสถาน(กรมศุลกากรในปัจจุบัน)บนพื้นที่ประมาณ4ไร่ริมฝั่งแม่นำ้เจ้าพระยาซอยเจริญกรุง36(โรงภาษี)ติดกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผลงานชิ้นเอกย่านถนนเจริญกรุงโดยฝีมือของ โยอาคิม กรัสซี สถาปนิกชาวอิตาลีสัญชาติออสเตรียน/ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาปนิกที่มีผลงานมากมายในขณะนั้น เช่น พระราชวังบางปะอิน วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร วังบูรพาภิรมย์ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ อาคารเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ ฯลฯหลังสร้างเสร็จถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาคารที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น
 
ความงามของอาคารศุลกสถานนั้น พระยาอนุมานราชธนได้บันทึกไว้ในหนังสือตำนานกรมศุลกากรว่า “สมัยนั้น ถ้านั่งเรือไปตามแม่นำ้เจ้าพระยา จะปรากฏตัวตึกกรมศุลกากรตั้งตระหง่านเด่นเห็นได้แต่ไกลด้วยเป็นตึกที่ตอนกลางสูงถึง 3ชั้น สมัยนั้นนอกจากกระทรวงกลาโหมแล้ว ดูเหมือนจะมีแต่ตึกกรมศุลกากรเท่านั้นที่เป็นตึกขนาดใหญ่และสวยงาม”
 
ศุลกสถานแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้าที่เรียกว่า “ภาษีร้อยชักสาม”แล้วยังเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่จัดเลี้ยงและเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติในงานเฉลิมพระชนมพรรษา2-3ครั้งรวมทั้งเป็นที่จัดเลี้ยงงานสมโภชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติพระนครจากการเสด็จประพาสยุโรปคราวแรกด้วย
 
ต่อมาที่ทำการศุลกากรได้ย้ายไปบริเวณท่าเรือคลองเตย ศุลกสถานก็เปลี่ยนมาเป็นที่ทำการตำรวจนำ้ ต่อมาได้ปรับเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก เป็นระยะเวลายาวนานกว่า60ปีก่อนที่จะย้ายออกไปจนกลายเป็นตึกร้าง
ต่อมาได้มีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสามระหว่างกระทรวงการคลัง กับ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน)พร้อมด้วยกรมศิลปากรเพื่อพัฒนาที่ดินแปลงนี้ ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาทซึ่งมีกำหนดเปิดบริการภายในกลางปีหน้าจะสวยงามอย่างไรต้องรอดูกันครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

กะน้ำหนักโดยใช้ลักษณะ
การหยิบด้วยมือเป็นตัวชั่ง

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 04 กันยายน 2567 

วันนี้จะเล่าเรื่องการกะน้ำหนักโดยใช้ลักษณะการหยิบด้วยมือเป็นตัวชั่ง คนไทยสมัยก่อนเวลาทำอาหาร หรือปรุงยา ส่วนใหญ่แล้วไม่มีกิโลให้ชั่งน้ำหนักได้กันหรอก แต่จะใช้สัมผัสจากฝ่ามือและนิ้วแทน หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการประมาณนั่นแหละ มาดูกันว่าเปรียบเทียบอย่างไร
* 1 หยิบมือประมาณเมล็ดข้าวเปลือก 150 เมล็ด 
* 4 หยิบมือประมาณเท่ากับ 1 กำมือ 
* 4 กำมือประมาญเท่ากับ 1 ฝ่ามือ (หรืออุ้มมือนั่นเอง) 
* 2 ฝ่ามือประมาณเท่ากับ 1 กอบมือ 
* 4 กอบมือประมาณเท่ากับ 1 ทะนาน
รู้ใว้เผื่อจำเป็นต้องใช้ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

สถานทูตโปรตุเกส

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 31 กรกฏาคม 2567 

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด อีกแห่งคือ สถานทูตโปรตุเกส สถานทูตสุดฮิบ ที่ดัดแปลงจากโกดังเก่า ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่ติดต่อกับสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2054 มาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระชัยราชาธิราชได้พระราชทานที่ดินให้ชาวโปรตุเกสตั้งภูมิลำเนาในราชอาณาจักรอยุธยาเรียกว่า บ้านโปรตุเกส ซึ่งในสมัยนั้นชาวโปรตุเกสจะนำวิทยาการสมัยใหม่แบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ เช่น การใช้ปืนใหญ่ การใช้เข็มทิศส่อง กล้อง การดาราศาสตร์ ฯลฯ
 
ชาวโปรตุเกสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาส่วนมากจะแต่งงานกับคนไทยเพราะว่ากษัตริย์โปรตุเกสในยุคนั้นส่งคนโปรตุเกสไปทั่วโลกโดยมีคำสั่งให้ไปสร้างความสัมพันธ์ และสร้างครอบครัวกับคนท้องถิ่นแทนที่จะไปยึด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชุมชนชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นมีถึง 3,000 คน ก็เพราะว่ามีครอบครัวเป็นคนไทย ชาวโปรตุเกสที่เรารู้จักชื่อเสียงเป็นอย่างดีก็คือ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์) ภริยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ขุนนางกรีก ซึ่งเป็นหัวหน้าห้องเครื่องไทยในราชสำนักอยุธยาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการทำของหวานตระกูลทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองม้วน ฯลฯ 

ในยุครัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมเด็จราชินี Maria แห่งโปรตุเกสเพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับค้าขาย และที่พักของกงสุลโปรตุเกส ปัจจุบันคือที่ตั้งของโกดังที่ปรับปรุงให้เป็นสถานทูตโปรตุเกส และทำเนียบทูต
 
สำนักงานของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสอยู่ภายในอาคารปูนสองชั้นสีเหลืองอ่อนที่ดูมิดชิด เมื่อผลักประตูเข้าไปภายในเหมือนออฟฟิศดีไซเนอร์รุ่นใหม่มากกว่าสถานทูตอาคารหลังนี้เดิมคือโกดังเก็บสินค้าที่ขนส่งมาทางเรือ เมื่อการขนส่งเปลี่ยนรูปแบบไปโกดังแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างจนเมื่อ 17 ปี ที่แล้ว สถานทูตชวนวิศวกรและสถาปนิกชาวโปรตุเกสมาดัดแปลงโกดังโครงไม้อายุกว่าร้อยปีหลังนี้ให้กลายเป็นสำนักงานสุดโมเดิร์นและได้ย้ายสำนักงานของสถานทูตมาอายุที่นี่
 
ที่น่าสนใจอีกแห่งของสถานทูตโปรตุเกสคืองานสตรีทอาร์ตบนกำแพงหน้าสถานทูตซึ่งกล้าหาญเจาะกำแพงปูนให้เป็นภาพใบหน้าคนโดยฝีมือของศิลปินชื่อดังชาวโปรตุเกส สถานทูตโปรตุเกสอยู่เยื้องๆ กับบ้านเลขที่ 1 ของเขตบางรักอยู่ติดกับโรงแรมรอยัลออคิด เชอราตันโดยสนามหญ้าของสถานทูตได้ให้ทางโรงแรมเช่าทำสนามเทนนิส และสระว่ายน้ำ โดยมีข้อแม้ว่าต้องให้เจ้าหน้าที่ของสถานทูต และแขกใช้ได้ฟรีด้วย 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

บ้านเลขที่ ๑

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 17 กรกฏาคม 2567 

ทำเลที่ตั้งของบริษัท ยิบอินซอย จำกัด ที่อยู่ใกล้ๆกับวัดมหาพฤฒารามในอดีตนั้นถือว่าเป็นชัยภูมิการค้าที่เจริญ และทันสมัยที่สุดย่านหนึ่งของพระนครในยุคนั้น เพราะเป็นถิ่นการค้าของชาวจีน และชาวต่างชาติแวดล้อมไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทั้งทางรถไฟ ทางน้ำ รวมทั้งการสื่อสารทางไปรษณีย์อย่างครบครัน นอกจากนั้นแล้วในย่านนี้ยังมีสถานที่สำคัญๆที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อีกหลายแห่ง เช่น

บ้านเลขที่ ๑ ของเขตบางรักที่อยู่ในซอยเจริญกรุง ๓๐ หรือตรอกกัปตันบุช มีที่มาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๕) พระราชทานที่ดินแก่พระมเหสีของพระองค์คือเจ้าสายวลีภิรมย์และลูกๆ โดยพระองค์ทรงขอให้คณะองคมนตรีจัดการแบ่งที่ดินเป็นสองแปลงเพื่อให้เช่า

แปลงแรกเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ ๑ สาเหตุที่บ้านกลายเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากเขตบางรัก (เดิมเป็นเขตสี่พระยา) ถือว่าบ้านหลังนี้เป็นสมบัติขององคมนตรีจึงได้รับเกียรติเป็นอันดับ ๑ อาคารเดิมเป็นสำนักงานของโรงกลั่นฝรั่งเศสในอดีต เป็นสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกของยุโรปมีสองชั้น หลังคาทรงปั้นหยาพร้อมจั่วกลางที่ด้านหน้า ผนังทาสีเหลือง หน้าต่างสีเขียวมะกอก ตัดกรอบสีขาว ประตูและหน้าต่างมีรูปโค้งแบบโรมันที่งดงาม ชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องนำเข้าส่วนชั้นบนปูด้วยไม้สัก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือว่าบ้านเลขที่๑เป็นโครงสร้างที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ในการบูรณะอาคารโดยสำนักงานทรัพย์สินฯในช่วงปี ๒๕๕๕-๒๕๖๐ พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นชุมชนชาวต่างชาติ จากการค้นพบเครื่องปั้นดินเผาจากจีน และยุโรป

ส่วนที่ดินแปลงที่ ๒ ตั้งถัดจากบ้านเลขที่๑ทางด้านทิศเหนือ ผู้ที่เช่าคือ นายหลุยส์ทีลีโอโนเวนส์ บุตรชายของแหม่มแอนนา ลีโอโนเวนส์หรือมาดามแอนนา ครูสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรสและพระธิดาในรัชกาลที่๔ ที่ดินแปลงนี้เช่าเพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจค้าไม้ไปยังประเทศยุโรป ปัจจุบันเป็นสถานที่ใช้แระกอบอาหารเปิดรับจัดเลี้ยงหรือจัดกิจกรรมต่างๆ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

อำเภอทุ่งสง ในอดีตเมื่อเกิด
สงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 24 เมษายน 2567 

อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชในอดีตเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเคยเป็นสมรภูมิสำคัญที่ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการตัดขาดเส้นทางการขนส่งของญี่ปุ่น เส้นทางรถไฟถูกระเบิดขาดเป็นหลายช่วงจนไม่สามารถเดินรถได้ สถานีรถไฟทุ่งสงซึ่งเป็นสถานีรถไฟไม้ชั้นเดียวเล็กๆ ไม่เหลือเค้าของความเป็นสถานี มองไกลๆก็เห็นเรียบเป็นหน้ากลอง มีผู้คนนอนตายอยู่เกลื่อน ในขณะที่เจ้าหน้าที่และญาติกำลังเก็บกู้ศพที่พอชี้ระบุตัวได้ ส่วนที่ดูแล้วจำไม่ได้ก็ต้องรอญาติ ซึ่งบางทีญาติก็ตายกันยกครัวส่วนเจ้าหน้าที่การรถไฟต้องอพยพหนีไปอยู่ในถ้ำ 

สงครามครั้งนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์ความบอบช้ำของชาวทุ่งสงที่เล่าขานกันมาจนบัดนี้ ยิบอินซอยของเราที่จดทะเบียนเป็น

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเมื่อปีพุทธศักราช 2469 ในสมัยสงครามนั้นก็ทำธุรกิจค้าแร่โดยมีสำนักงานใกล้ๆสถานีรถไฟที่ถูกระเบิดแต่เดชะบุญที่แรงระเบิดไม่ได้ทำความเสียหายให้กับสำนักงานและบริษัท ธนาคารสยามกัมมาจล ทุนจำกัดที่เช่าอาคารของรถไฟอยู่ด้วยกัน

ปัจจุบันนี้บริษัท ยิบอินซอย จำกัดก็ยังมีที่ดินแปลงสวยๆอยู่ใจกลางเมืองทุ่งสงอีกหลายแปลง ผู้ที่เดินทางไปอำเภอทุ่งสง นอกจากจะเที่ยวชมประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นถิ่นฐานของมนุษย์ถ้ำจนกลายเป็นชุมทางรถไฟเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ยังมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจคือศาลเจ้าและรูปเคารพ พระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งมีประวัติการก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2495 โดยได้อัญเชิญกระถางธูปของพระซำปอกงที่ประกอบพิธีในถ้ำไปฝากไว้ที่สวนผักบ้านนาเหนือ ซึ่งเป็นสวนผักที่บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ให้ชาวสวนเช่า เมื่อมีผู้ที่มีจิตศรัทธาเคารพนับถือมากขึ้นทางคณะกรรมการของศาลเจ้าได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากบริษัทซึ่งขณะนั้นมีคุณกลิ่น สุชาตานนท์ เป็นผู้จัดการที่ดินเนื้อที่จำนวน 4 ไร่เป็นเงิน 36,000 บาท ในวันที่คุณหมอม มรกต ยิบอินซอย แวะเข้าไปสักการะศาลเจ้าซำปอกงและพระโพธิสัตว์กวนอิมนั้น คุณวรวิทย์ โถสุวรรณ ประธานมูลนิธิฯ ทราบข่าวได้มาต้อนรับและเล่าประวัติของสถานที่ว่าเคยเป็นของบริษัทให้ได้รับทราบอีกด้วย 

สถานที่นี้นอกจากจะเป็นศาลเจ้าซำปอกงแล้วยังมีพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่ว่ากันว่ามีความสูงมากคือสูงถึง 19 เมตร ประทับยืนบนดอกบัวใหญ่ เคียงข้างด้วยกุมารและกุมารีสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ซึ่งได้ประกอบพิธีเบิกเนตรในวันที่ 19 เดือน 6 (ทางจันทรคติ) ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ 2539 อันเป็นวันคล้ายวันสำเร็จพระโพธิญาณพระโพธิสัตว์กวนอิม เป็นสถานที่เคารพนับถือของชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะผ่านไปไหว้วัดพระมหาธาตุมหาวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราชก็จะต้องแวะไหว้ศาลเจ้าซำปอกงและพระโพธิสัตว์กวนอิมก่อนที่จะเดินทางไป    

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

เรื่องเล่าจากป้านะ คุณภาณี ยิบอินซอย

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 27 มีนาคม 2567 

ป้านะ คุณภาณี ยิบอินซอย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิภาณี ยิบอินซอยและมูลนิธิสัจธรรมได้เล่าเรื่องความเด็ดขาดในการบริหารงานของคุณยิบ ซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณภาณีให้คุณเจียม ทับทองฟังดังนี่

วันหนึ่งคุณภาณีมีนัดทานอาหารกลางวันกับคุณยิบ เมื่อใกล้เวลานัดหมายก็เดินทางจากบ้านมารอคุณยิบที่ บริษัทยิบอินซอย จำกัด ระหว่างนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งที่ทั้งการแต่งตัวและท่าทางเหมือนมาจากต่างจังหวัดแบกกระสอบข้าวสารเปล่าไว้บนหลังเดินเข้ามาติดต่อสอบถามกับพนักงานที่นั่งอยู่ในที่ทำงานซึ่งมีประมาณ 10 คน เดินถามไปทุกโต๊ะแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆจากพนักงานเหล่านั้น ท่าทางแกดูเหนื่อยและผิดหวังอย่างมาก จึงเดินมานั่งลงกับพื้นข้างๆเก้าอี้ที่คุณภาณีนั่งรอคุณยิบ คุณภาณีได้กล่าวเชิญให้นั่งบนเก้าอี้แต่ก็ได้รับคำตอบว่านั่งข้างล่างก็สบายดี นั่งอยู่ได้สักพักได้เวลาพักเที่ยง คุณยิบ เดินออกจากห้องทำงานเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวันกับคุณภาณี มองไปเห็นชายที่นั่งอยู่บนพื้นข้างคุณภาณี จึงสอบถามว่า ลุงมาติดต่อเรื่องอะไรมีอะไรให้ช่วย ชายคนดังกล่าวยกมือไหว้คุณยิบ พร้อมทั้งแจ้งกับคุณยิบว่าเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อซื้อปุ๋ยแทนลูกชายที่เคยเดินทางมาติดต่อซื้อปุ๋ยเป็นประจำกับบริษัทฯ คุณยิบเห็นลุงนั่งกอดกระสอบเก่าๆ ที่แกแบกมาไว้กับอกจึงถามว่าที่กอดไว้นั้นเป็นกระสอบอะไร ลุงตอบว่าเป็นกระสอบที่ใส่เงินมาซื้อปุ๋ยพร้อมทั้งเปิดกระสอบเทเงินออกมา มีธนบัตรหลากหลายชนิด ตั้งแต่ฉบับละ 50 สตางค์ 1.- บาท 5.- บาท10 .- บาท  20. – บาท จนถึงฉบับละ 100.- บาท (ธนบัตรฉบับละ 100.- บาทเป็นธนบัตรที่มีค่าสูงสุดสำหรับประเทศไทยสมัยนั้น) คุณยิบได้ถามต่อว่าแล้วทำไมลุงไม่ติดต่อกับพนักงานที่นั่งให้บริการอยู่ในห้องนี้ ได้รับคำตอบว่าติดต่อแล้วว่าต้องการมาซื้อปุ๋ย แต่พนักงานที่ไปสอบถามด้วยทั้งห้องก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เมื่อคุณยิบได้ฟังคำตอบมีความโกรธมากที่พนักงานไม่ให้ความสำคัญและรับรองลูกค้า มองลูกค้าเป็นคนบ้านนอก จึงสอบถามพนักงานทั้งหมดว่าลุงมาติต่อซื้อปุ๋ยทำไมจึงไม่อำนวยความสะดวกให้ พนักงานเหล่านั้นต่างตกใจกันมากตอบคุณยิบแบบตะกุกตะกักว่า ลุงพูดไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าจะซื้ออะไร คุณยิบได้พูดกับเหล่าพนักงานว่าพวกคุณก็เป็นคนไทยเหตุใดจึงฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ ทำไมฉันจึงฟังรู้เรื่องและเข้าใจความประสงค์ของลูกค้าทั้งๆที่พูดภาษาเดียวกันกับที่พูดกับพวกคุณ คุณยิบ จึงกล่าวต่อกับพนักงานทั้งหมดว่าการให้บริการที่ดีกับลูกค้าจะทำให้บริษัทฯของเราสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงและเป็นที่ชื่นชมให้กับลูกค้าต่อๆไปในเวลาเดียวกันคุณยิบ จึงกล่าวกับพนักงานว่าเมื่อพวกคุณไม่สามารถปฎิบัติงานตามนโยบายที่บริษัทฯวางไว้ บริษัทฯจึงขอเลิกจ้างพวกคุณทั้งหมดนับแต่วันนี้เป็นต้นไปยกเว้นพนักงานการเงินยังคงให้ปฎิบัติงานอยู่ต่อไป เมื่อจัดการกับพนักงานเรียบร้อยคุณยิบ จึงชวนลุงให้ไปทานอาหารด้วยกัน ลุงเกรงไม่กล้าไป คุณยิบบอกว่าไม่ต้องเกรงใจพร้อมทั้งพาขึ้นรถออกไปทานอาหารด้วยกัน คุณภาณีเล่าต่อว่า เมื่อไปถึงร้านอาหารคุณยิบ ได้สอบถามลุงว่า อยากจะทานอาหารอะไรจะได้สั่งมาให้ ลุงบอกว่าอาหารของพระนครคงจะทานไม่เป็น ขอเพียงข้าวผัดธรรมดาหนึ่งจาน เมื่อพนักงานเสิร์ฟเรียบร้อยลุงได้ทานข้าวผัดที่สั่งมา คุณยิบ จึงถามว่าอาหารรสชาติเป็นอย่างไร ลุงตอบว่าอร่อยมาก ที่บ้านไม่มีของอร่อยๆอย่างนี้ คุณยิบ ได้ฟังก็อมยิ้ม พร้อมทั้งสั่งข้าวผัดใส่ห่อให้ลุงนำกลับไปฝากคนที่บ้านอีกหลายห่อ เมื่อลุงได้รับก็ยกมือไหว้แล้วไหว้อีกหลายครั้ง จนเมื่อทานอาหารเสร็จเรียบร้อยกลับมาถึงบริษัทฯคุณยิบ ได้สั่งให้คนงานขนปุ๋ยขึ้นรถพร้อมทั้งสั่งให้นำลุงและปุ๋ยไปส่งให้ถึงบ้าน

นี่ถือเป็นบทเรียนบทหนึ่งที่พวกเราควรจดจำและนำไปปฎิบัติในการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า  ซึ่งคุณยิบมองว่า ลูกค้าคือผู้ที่มีบุญคุณต่อบริษัทฯ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ชื่อวัดในกรุงเทพมหานคร

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 20 มีนาคม 2567 

ลองทบทวนความรู้เกี่ยวกับชื่อวัดในกรุงเทพมหานครที่เราเรียกกันจนติดปาก แทบจะเกือบลืมชื่อที่เป็นทางการไป เช่น 
1.วัดโพธิ์ 
2.วัดแจ้ง
3.วัดเลียบ
4.วัดสามปลื้ม
5.วัดเกาะ
6.วัดแคนางเลิ้ง
7.วัดตองปุ
8.วัดท้ายตลาด
9.วัดภูเขาทอง
10.วัดบางหว้าใหญ่
11.วัดสลัก
12.วัดไทรทอง
13.วัดเล่งเน่ยยี่
14.วัดแขกสีลม

  ชื่อที่เป็นทางการของวัดแต่ละแห่งคือ

1.วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
2.วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
3.วัดราชบูรณะราชวรวิหาร
4.วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหาร 
5.วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร
6.วัดสุนทรธรรมทาน
7.วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
8.วัดโมฬีโลกยารามราชวรวิหาร
9.วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
10.วัดระฆังโฆสิตารามราชวรวิหาร 
11.วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ราชวรมหาวิหาร
12.วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
13.วัดมังกรกมลาวาส
14.วัดพระศรีอุมาเทวี

แล้ววัดที่อยู่ข้างๆบ้านของคุณเดิมชื่อวัดอะไรครับ  

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 13 มีนาคม 2567 

วันที่10 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ ป้านะคุณภาณียิบอินซอย บุตรีของคุณยิบอินซอย ซึ่งเป็นคุณป้าของคุณมรกตยิบอินซอย และคุณยุพธัชยิบอินซอย ซึ่งป้านะได้กรุณาเล่าข้อมูลที่น่าสนใจของ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ให้คุณเจียม ทับทองได้รับทราบ 
 
ก่อนการจดทะเบียนตั้ง บริษัทยิบอินซอยจำกัด ในจังหวัดพระนครจะถือกำเนิดขึ้นคุณยิบอินซอยซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการทำเหมืองแร่และซื้อขายแร่ทางภาคใต้ เล็งเห็นว่าการทำธุรกิจเหมืองแร่แต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่นำไปสู่ความสำเร็จอย่างสูงสุดได้ จำเป็นจะต้องหาทางทำธุรกิจอื่นควบคู่กันไปด้วย จึงเดินทางเข้ามาในจังหวัดพระนครเพื่อหารือกับคุณจูจูตระกูล ซึ่งเป็นคู่เขย ได้พูดคุยหาแนวทางที่จะก่อตั้ง บริษัทยิบอินซอยจำกัด ขึ้นในจังหวัดพระนคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินธุรกิจการค้าครบวงจรเช่นเดียวกับหลายบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในเวลานั้นควบคู่ไปกับกิจการด้านทำเหมืองแร่และซื้อขายแร่ 
 
คุณยิบได้เชิญคุณจู จูตระกูลร่วมกันหารือเกี่ยวกับการก่อตั้งบริษัทโดยขอให้คุณชู เป็นผู้ที่ดูแลกิจการการค้าทางพระนคร ซึ่งในเวลานั้นคุณชู ได้ทำงานอยู่กับบริษัทของตระกูล ยอดมณีมีสำนักงานอยู่แถวถนนราชดำเนินและในบริษัทที่คุณชู ปฎิบัติงานอยู่ได้มีชาวต่างชาติปฎิบัติงานร่วมอยู่ด้วยคือ Mr.Paul Lamszies ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติเยอรมัน  

คุณชู ได้แจ้งต่อคุณยิบว่า การที่จะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จจะต้องดำเนินไปทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า และได้กล่าวเสริมว่าหากทำธุรกิจใช้เฉพาะพนักงานชาวไทยเกรงว่าจะดำเนินการได้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร คุณชูกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าความสามารถในด้านการใช้ภาษาเพื่อติดต่อกับต่างประเทศ คุณชู ยังไม่มีความเชี่ยวชาญดีพอ จึงเสนอต่อคุณยิบว่า หากจะประกอบการค้าให้เกิดความเจริญทัดเทียมกับห้างของชาวต่างชาติที่เข้ามาเปิดกิจการ เห็นควรที่จะต้องจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยเป็นผู้ที่ประสานงานเพื่อเจรจากับผู้แทนการค้าของต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียน รวมถึงการพิจารณาตรวจสอบสัญญาในการแต่งตั้งให้ฝ่ายเราเป็นตัวแทนจำหน่ายกับบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศที่เราจะทำการร่วมค้าขายด้วย คุณชู จึงเสนอให้จ้าง Mr.Paul Lamszies มาปฎิบัติงานร่วมกับบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น ซึ่งคุณยิบ ก็ไม่ได้คัดค้านข้อเสนอที่คุณชู เสนอมา เมื่อตกลงในหลักการเบื้องต้นกันเรียบร้อย จึงได้มีการติดต่อรวบรวมบุคคลที่รู้จักชอบพอเข้าร่วมเป็นผู้ที่ก่อตั้งบริษัท โดยจดทะเบียนในชื่อ บริษัทยิบอินซอยจำกัด “เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ 2473

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วิสัยทัศน์กว้างไกลของผู้บริหารยิบอินซอยในอดีต

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 6 มีนาคม 2567 

ผู้บริหารของยิบอินซอยในอดีตมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จะเห็นได้จากการเลือกทำเลที่ตั้งสำนักงาน ในกรุงเทพมหานครก็อยู่ใกล้ๆทั้งการคมนาคมทางบก ทางน้ำย่านการค้าที่สำคัญรวมทั้งไปรษณีย์และสถาบันการเงินอีกด้วย 
 
ส่วนทางภาคใต้ยิบอินซอยได้เปิดดำเนินธุรกิจครั้งแรกโดยจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเมื่อปี พ.ศ 2469 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อดำเนินธุรกิจด้านเหมืองแร่ดีบุกและวุลแฟรม 
 
ที่อำเภอทุ่งสงในระยะแรกยิบอินซอยได้เช่าตึกของการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเป็นสาขาเพื่อความสะดวกในการขนส่งแร่ไปให้กับลูกค้ายังต่างประเทศ แรกๆไม่มีสัญญาเช่าอย่างเป็นทางการแต่ต่อมาในปี พ.ศ 2498 ได้ทำสัญญาเช่ากับการรถไฟฯคราวละ1ปีโดยการรถไฟคิดค่าเช่าเดือนละ 200 บาทค่าภาษีโรงเรือนเดือนละ 25 บาทรวมค่าเช่าเดือนละ 225 บาท (ข้อมูลจากคุณเจียม ทับทอง ผู้ที่อาวุโสสูงสุดของยิบอินซอย)  

อาคารที่ทำการสาขาทุ่งสงที่ บริษัทยิบอินซอย เช่าอยู่นั้นยังมีแบ๊งก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน) ในปัจจุบัน เช่าอยู่ด้วย ซึ่งแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดนั้นนับเป็นสาขาของธนาคารแห่งแรกในประเทศไทยเปิดบริการในปี พ.ศ 2463
 
คุณอาภรณ์กฤษณามระ ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ระลึกวันเปิดสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดเมื่อวันที่19 สิงหาคม พ.ศ 2514 ไว้ว่า

กิจการธนาคารที่ทุ่งสงเมื่อแรกเปิดนั้น กิจการของเหมืองแร่อุดมมากทำให้ธนาคารได้กำไรเป็นอย่างดี ที่ทำการของธนาคารสาขาทุ่งสงเป็นตึกแถวเช่ามาจากกรมรถไฟหลวงเป็นตึกแถว 2 ห้อง ตึกแถวนั้นก็ยังอยู่ตราบจนทุกวันนี้ มีผู้ประกอบการที่อยู่ติดกับธนาคาร 2ห้องด้วยกันคือ ห้างยิบอินซอย อีกห้างหนึ่งคือ บั้นทินหลำตัวผมนั่งทำงานใต้บันไดเกือบจะไม่มีที่จะกระดิกตัวไปไหนได้เลยเพราะต้องนั่งคุมบานประตูห้องเก็บเงินตลอดเวลา สภาพเช่นนี้ท่านคงจะวาดภาพได้เลยว่า การนั่งทำงานอยู่ใต้บันไดนั้นมีความรู้สึกประการใด ความภูมิใจย่อมไม่มีเป็นแน่

นายอาภรณ์ กฤษณามระได้กล่าวถึงการปฎิบัติงานในหน้าที่ไว้ว่า ทีนี้ผมจะพูดถึงการปฎิบัติหน้าที่บางอย่าง โดยมากเงินสดที่นี่สำหรับใช้จ่ายที่ทุ่งสงไม่พอเพียงจึงเป็นต้องขอเงินสดจากกรุงเทพฯ ซึ่งสำนักงานใหญ่ได้ส่งไปโดยทางไปรษณีย์ ตอนที่ไปรับเงินทางไปรษณีย์ดูๆเป็นที่น่าตื่นเต้น ผมยังเสียดายที่ไม่มีโอกาสให้คนถ่ายภาพไว้ เจ้าหน้าที่ของเรามีอยู่ 4 คนด้วยกันคือ ตัวผมเอง หัวหน้าเสมียนคนหนึ่ง (แต่ว่าหัวหน้าเสมียนไม่มีเสมียนลูกน้องตัวเองเป็นทั้งหัวหน้าและลูกน้อง) พนักงานรับใช้คนหนึ่งและยามคนหนึ่งซึ่งในสมัยก่อนนี้ยามเราใช้แขก เมื่อถึงเวลาไปรับเงินเราต้องปิดธนาคารชั่วคราวในขณะเดียวกันก็ขอร้องให้ ยิบอินซอยและ บั้นทินหลำ ช่วยดูแลสำนักงานของสาขาไว้ด้วยแล้วก็ตรงไปไปรษณีย์ขอรับเงินที่ส่งมานั้น น่าดูมาก แขกยามถือพลองเดินนำหน้า พนักงานเอาถุงใส่พันธบัตรพาดไหล่ เดินตามหัวหน้าเสมียนและผมเดินเป็นอันดับสุดท้าย การอยู่หัวเมืองโดยมากมักจะถือไม้เท้ากัน ผมเองก็มีไม้เท้าเป็นอาวุธป้องกันเดินตามหลัง การเดินทางกลับนั้นถึงแม้จะไม่สู้ไกลนักแต่ถ้ามีคนมาคอยดูก็อุ่นใจเพราะว่าปลอดภัยแน่แต่ถ้าตอนไหนไม่มีคนอยู่ ใจคอไม่สู้ดีเหมือนกัน ภาพเดินนี้ถ้ามานึกเทียบกับสมัยปัจจุบันแล้วคงเป็นภาพประวัติศาสตร์แน่นอน 

ต่อมาเมื่อมีการเดินทางโดยรถไฟต่อไปถึงอำเภอหาดใหญ่และขยายไปถึงมลายูทำให้ปริมาณธุรกิจและการค้าขายของอำเภอทุ่งสงลดลงตามลำดับในเดือนมีนาคม พ.ศ 2475 คณะกรรมการอำนวยการบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดมีมติให้เลิกสาขาที่อำเภอทุ่งสง

ส่วนที่ห้างยิบอินซอยก็ยังเช่าอาคารของการรถไฟอยู่จนกระทั่งปี พ.ศ 2520 บริษัทได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการเองจึงได้บอกเลิกสัญญาเช่าตึกของการรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ 2520 เป็นระยะเวลาเช่าต่อเนื่องรวม 58 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ 2469 จนถึงปี พ.ศ 2520

ปัจจุบันอาคารของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ทั้งแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดและห้างยิบอินซอย เคยเช่านั้นยังตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ช่วงตัดระหว่างถนนรถไฟและถนนชนปรีดา ถ้าสังเกตดีๆจะยังมีป้ายชื่อของยิบอินซอยอยู่ติดผนังให้เห็นรางๆอีกด้วย

ยิบอินซอย ได้ดำเนินธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหาร สร้างคุณประโยชน์ ทำความเจริญรุ่งเรืองให้อำเภอทุ่งสงโดยเฉพาะอาคารบ้านเรือนเป็นสถาปัตยกรรมอันเป็นมรดกความทรงจำของทุ่งสง ทำให้ท่านประธาน คุณยิบยิบอินซอย ได้รับการยกย่องให้เป็น บุคคลในความทรงจำของทุ่งสง ตราบจนทุกวันนี้ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ตำนานอาหารอร่อย อำเภอทุ่งสง 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 21 กุมภาพันธ์ 2567 

อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่บริษัทยิบอินซอยมีสาขาอยู่และปัจจุบันยังมีเรือนรับรองยิบอินซอยที่สวยงามสง่าอยู่ถนนชนปรีดาใครที่ได้ผ่านไปมารับรองว่าจะต้องเหลียวมอง 
 
ในทุ่งสงมีคนไทยเชื้อสายจีนตั้งถิ่นฐานทำมาค้าขายอยู่มาก คนเหล่านี้จะมีวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารเช้าเป็น น้ำชาหรือกาแฟ (มักจะเรียกกันว่า โกปี๊)แล้วมี อิ่วฉาก๊วย ปาท่องโก๋กินคู่กัน ส่วนกลางวันนิยมรับประทาน ขนมจีน กินกับ น้ำยา น้ำพริก แกงไตปลาฯลฯและที่ขาดไม่ได้คือ มีผักต่างๆให้แกล้มอย่างมากมาย ร้านขายขนมจีนบางร้านในอำเภอทุ่งสงขายตั้งแต่เที่ยงวันจนถึงสว่าง อำเภอทุ่งสงจึงได้สมญานามว่า ทุ่งสงเมืองขนมจีน 24 ชั่วโมง
 
ส่วนอาหารเย็นหลายคนมักจะไปกินที่ร้านอาหารและภัตตาคารร้านที่โด่งดังเปิดมานานถึง 4 ชั่วคนคือร้านย่งฮง ขายดิบขายดีจนต้องแยกขยายอีกสาขาชื่อร้านแสงโสม ตามชื่อของลูกสาว โดยมีเมนูเด็ดของร้านคือ ขาหมูตุ๋นยาจีนแบบโบราณ กระเพาะปลาผัดแห้งที่ต้องใช้แต่กระเพาะปลาฮุยซุ่นฮงซึ่งเป็นปลาทะเลน้ำลึกเป็นปลาที่มีกระเพาะใหญ่มีราคาแพงมากและแกงคั่วไก่บ้าน 

คุณสุกรี หวังวณิชชากร หรือโกกีทายาทรุ่นที่ 2 ปัจจุบันอายุ 8 0ปีเจ้าของร้านย่งฮงและแสงโสมเล่าให้ฟังว่า ในสมัยก่อนทุ่งสงมีร้านอาหารเพียงแค่ 2-3ร้านเท่านั้นเวลาที่นายยิบ(ท่านประธานยิบ ยิบอินซอย)มาที่ทุ่งสงซึ่งท่านจะไปๆมาๆระหว่างทุ่งสงกับหาดใหญ่เพราะมีบริษัทอีกแห่งอยู่ที่นั่น มาทีไรก็จะต้องแวะเวียนมาที่ร้านเพราะสนิทสนมกับพ่อของโกกีและกินอาหารที่ร้านเพราะพ่อผมทำอาหารจีนเก่งสูตรอาหารเป็นภาษาจีนละเอียดมากเปิดร้านมา100กว่าปีแล้วโกกีเล่าอีกว่า เวลานายยิบมาท่านไม่ได้มาคนเดียวมักจะพาพนักงานธนาคารกรุงเทพพาณิชยการที่ท่านทำธุรกิจการเงินในการเป็น กัมประโด มาด้วย มาถึงร้านท่านจะนั่งที่หัวโต๊ะ คิ้วหนายาว ใจดี ไม่ดุแต่ไม่พูดมาก ลูกน้องกลัวกันทุกคน แต่ถ้าท่านมาทุ่งสงแต่ไม่ได้แวะมาที่ร้านผมยังเป็นเด็กมีหน้าที่เข็นรถใส่อาหารไปส่งที่บ้านสวยเรือนรับรองยิบอินซอย นายยิบจะชอบอาหารเด่นของที่ร้าน เช่นขาหมูตุ๋นยาจีนโบราณ กระเพาะปลาผัดแห้งฯลฯ ตัวผมเองกับลูกๆของนายยิบทุกคน
 
ทุกวันนี้ทั้งร้านย่งฮงและร้านแสงโสมก็ยังขายดีเป็นขวัญใจของนักกินชาวทุ่งสงที่ชอบอาหารจีนโบราณเสมอ

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ชุมทางรถไฟ ทุ่งสง

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 14 กุมภาพันธ์ 2567 

ทุ่งสงเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ของเราเคยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่แห่งนี้ เมื่อเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา พ.ศ.2484 - 2488 ประเทศไทยโดยเฉพาะที่อำเภอทุ่งสงได้รับผลกระทบจากสงครามนี้อย่างยาวนานร่วม4ปีเนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในพื้นที่อำเภอทุ่งสงเป็นหลัก
 
ทุ่งสงเป็นชุมทางรถไฟมีหัวรถจักรและโรงซ่อมมากญี่ปุ่นจึงยึดเอาทุ่งสงเป็นที่ตั้งค่าย ค่ายที่ใหญ่ที่สุดคือบริเวณสถานีรถไฟใกล้ๆกับที่ทำการของบริษัทยิบอินซอยทหารญี่ปุ่นยังได้บังคับให้เชลยศึกหลายชาติทำอุโมงค์คร่อมทางรถไฟ 4 ลูก โดยใช้ไม้หมากและไม้ไผ่สานผูกผนังอุโมงค์ด้วยดินเหนียวทั้งด้านนอกและด้านในความยาวของอุโมงค์เท่ากับความยาวของหัวรถจักรไอน้ำสองคันต่อกันเมื่อถูกโจมตีจากฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำหัวรถจักรมาจอดหลบไว้ที่อุโมงค์เหล่านี้ ที่สำคัญที่สุดคืออุโมงค์ซำปอกงซึ่งที่นั่นมีที่ดินของ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด จำนวน 4 ไร่ ที่ให้ชาวจีนเช่าทำสวนผักรวมอยู่ด้วย 

เรื่องปรุงอาหารสำหรับทหารญี่ปุ่นและเชลยศึกนั้น นายแพทย์สมพงศ์ ขุทรานนท์ ได้เล่าว่า คราวหนึ่งมีเรื่องด่วนโดยทหารญี่ปุ่นรายงานว่าถูกคนไทยวางยาพิษเมื่อไปสอบสวนผลปรากฏว่าทหารญี่ปุ่นหลังจากกินอาหารเช้าแล้วป่วย ปวดท้องมากกว่าครึ่งพอไปดูอาหารที่กินปรากฎว่าเป็นต้มหมูกับใบพลู สอบถามได้ความว่าปกติทหารญี่ปุ่นที่ไปซื้ออาหารในตลาดพบว่ามีผักสดหลายชนิดทั้งผักกาดผักคะน้า และกะหล่ำปลีก็ซื้อไปปรุงอาหารเสมอๆต่อมาสังเกตว่าคนไทยนิยมซื้อผักชนิดหนึ่งคือ ใบพลู จึงถามให้มั่นใจว่าซื้อไปกินหรือได้รับคำตอบว่าซื้อไปกินจึงเหมามา 2 เข่งต้มกับหมูเป็นแกงจืดหมูต้มกับใบพลู ซึ่งก็ไม่จืดแต่เผ็ดเพราะใบพลู ทหารญี่ปุ่นไม่ชอบกินของเผ็ดๆเท่าคนไทย ผลปรากฏว่าปวดท้องกันทั้งกองเป็นเรื่องขำขันของคนไทยสมัยนั้น 

ทุ่งสงถูกกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโดยเฉพาะสถานีรถไฟทุ่งสงใกล้ๆกับที่ทำการของ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด สถานีรถไฟถูกทิ้งระเบิดจนราบเป็นหน้ากลองผู้คนตายเกลื่อน ผลของการทิ้งระเบิดเกิดหลุมขนาดใหญ่โดยเฉพาะบริเวณทางรถไฟมีหลุมระเบิด2หลุมแต่ละหลุมความยาวเกือบ100เมตรทางราชการได้ทำเป็นสวนปลูกบัว ส่วนลูกระเบิดที่ทิ้งแล้วไม่ระเบิดทางราชการนำมาแสดงไว้ที่ว่าการอำเภอทุ่งสง ปัจจุบันระเบิดนั้นได้ถูกทำลายไปแล้ว 
 
เมื่อสงครามสงบอำเภอทุ่งสงก็สงบลงตามไปด้วย สงครามครั้งนั้นจึงกลายเป็นประวัติศาสตร์ความบอบช้ำของขาวทุ่งสงที่เล่าขานสืบมาจนบัดนี้ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ของไหว้เพื่อเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่จีน

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 14 กุมภาพันธ์ 2567 

เทศกาลตรุษจีนที่เพิ่งจะผ่านไป คนรุ่นใหม่อาจจะไม่ทราบว่า ของไหว้ต่างๆเพื่อเสริมสิริมงคลต้อนรับปีใหม่จีนที่ควรรู้มีอะไรและมีความหมายอย่างไรบ้าง 
 
ของไหว้ตรุษจีน คาว,หวาน,ผลไม้(ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ และไหว้ฮ๊อเฮียตี๋(วิญญาณทั่วไป))

1.หมูหมายถึงความอุดมสมบูรณ์
2.สมัยก่อนนิยมใช่หัวหมูกับเท้า4ข้างและหางของหมู เปรียบว่าเป็นหมูทั้งตัว เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้จะนิยมใช้ตรงสวนที่เป็นสามชั้นมากกว่า แสดงออกถึงความสมบูรณ์อิ่มหมีพีมัน และหาซื้อจัดเตรียมได้ง่ายกว่า
3.ไก่หมายถึงความขยันขันแข็งและยศตำแหน่ง
4.จะใช้ไก่ต้มทั้งตัว เวลาไหว้ก็ต้องมีเครื่องในไก่ต้มไหว้จึงจะครบสูตรไก่แสดงถึงการตื่นตัวในการทำมาหากิน เพราะไก่รู้หน้าที่ตัวเอง ตื่นแต่เช้าเพื่อขันเตือนว่าถึงเวลาของวันใหม่ที่ต้องทำมาหากิน ไก่จะคุ้ยเขี่ยหาอาหารทั้งวัน ไม่ว่าแดดจะร้อนแค่ไหนบอกถึงความอดทนและขยันส่วนใหญ่จะนิยมใช้ไก่ตัวผู้เพราะหงอนไก่เปรียบเสมือนหมวกของขุน นางจีนโบราณ แสดงถึงยศตำแหน่งฐานะทางสังคม
5.เป็ดหมายถึงความมั่งมีที่ครบสมบูรณ์ไม่ขาด 
6.จะใช้เป็ดต้มแบบน้ำพะโล้ทั้งตัว เวลาไหว้ก็ต้องมีเครื่องในเป็ดต้มด้วยเช่นกันจึงจะครบสูตร
7.ปลาหมายถึงความเหลือกินเหลือใช้ไม่มีอด 
8.จะต้องใช้ปลามีเกล็ดนึ่งทั้งตัวไม่ต้องเอาส่วนใดออกจึงจะเป็นมงคล
9.กุ้งหมายถึงความสุขและความรุ่งเรือง
10.ต้องคัดเลือ โดยไม่ตัดส่วนใดๆทิ้ง จึงจะเป็นมงคล
11.ซาลาเปาและขนมจีบ หมายถึงมีสมบัติเหลือกิน เหลือใช้ เหลือเก็บ และมีโชคลาภ
12.ขนมไข่ ขนมสาลี ขนมถ้วยฟู หมายถึงความเจริญเฟื่องฟู ได้อะไรทีละมากๆ
13.ขนมจันอับ(ขนมแห้ง5อย่าง) หมายถึงความเพิ่มพูน เจริญงอกงาม มีความสุข
14.ส้ม หมายถึงความสุขสมบูรณ์ มีโชค มีชัย
15.กล้วย หมายถึงกวักสิ่งดีๆเข้ามา ได้ดีๆ ได้ง่ายๆ
16.องุ่นหรือผลไม้ที่เป็นพวง หมายถึงการแผ่ขยายความเจริญงอกงาม ความสงบเรียบร้อย
17.สับปะรด หมายถึงมีความสามารถมากและมีบริวารที่ดี 
18.สาลี่ หมายถึงความราบรื่นและสิ่งดีงามที่เข้ามาหา(ส่วนใหญ่ใช้ไหว้เฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้า ไม่นิยมไหว้บรรพบุรุษ)
19.แอปเปิ้ล หมายถึงความสงบสุขและสุขภาพแข็งแรง

ของไหว้ประเภพอาหารคาวหวานสำหรับบรรพบุรุษ
1.ข้าวสวยต้องตักให้พอกพูนเต็มถ้วย ถ้วยตามจำนวนบรรพบุรุษจนถึงแค่รุ่นปู,ย่า ต้องวางตะเกียบใว้ข้างถ้วยข้าวทุกถ้วย
2.วางถ้วยน้ำชา 5 ถ้วยเรียงหน้ากระดานต่อจากข้าว
3.อาหารคาว/หวาน 8-10 ชนิด
          3.1.ผัดหมีซั่ว(เมนูนี้ต้องผัดให้เส้นยาวๆห้ามตัดสั้นเพราะถ้าตักให้สั้นจะถือว่าไม่เป็นมงคล ทำอะไรไม่สำเร็จ
          3.2.ต้มจืดลูกชิ้นปลากลม
          3.3.กระเพาะปลา หรือผัดแห้งก็ได้
          3.4.หมูสามชันตุ๋นผักกาดแห้ง
          3.5.เต้าหู้ยัดไส้นึ่ง หรือ ลูกชื้นแคะก็ได้
          3.6.เปาะเปี๊ยะทอด หรือเปาะเปี๊ยะสดก็ได้
          3.7.ผัดผักบล็อกโคลี่เห็ดหอมใส่กุ้ง
          3.8.เผือกหิมะ
          3.9.สามแซ่ต้มน้ำตาล (แปะก๊วย,เม็ดบัว,พุทราจีน)

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ยิบอินซอย ในอดีต

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 7 กุมภาพันธ์ 2567 

วิสัยทัศน์ในการเลือกทำเลที่ตั้งสำนักงานของผู้บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในอดีตที่ต้องเลือกสถานที่ให้สะดวกในการติดต่อ การขนส่ง จะเห็นได้จากสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ในปัจจุบัน 
 
โดยเฉพาะที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ที่บริษัทฯ ใช้เป็นสถานที่ขนส่งแร่ไปยังชุมทางหาดใหญ่และต่างประเทศ สำนักงานของบริษัทฯก็ตั้งอยู่ใกล้ๆสถานีรถไฟทุ่งสงติดถนนถึง2ด้าน ด้านหนึ่งติดถนนรถไฟอีกด้านติดถนนชนปรีดาส่วนด้านหลังนั้นติดกับรางรถไฟจุดที่สิ้นสุดของรางรถไฟพอดี  

เวลาที่นำแร่มาส่งออกก็ต้องนำมาขึ้นที่สำนักงาน ชั่งน้ำหนัก ขนใส่ตู้รถไฟที่มารอรับ ซึ่งกิโลที่ใช้ชั่งน้ำหนักในสมัยนั้นถึงแม้สภาพจะใช้การไม่ได้แล้วก็ยังมีให้เห็น 

ปัจจุบันสถานที่ที่เคยเป็นสำนักงานของบริษัทแห่งนี้เป็นที่พิพิธภัณฑ์แสดงนิทรรศการทางด้านศิลปะ ถ้าได้มีโอกาสผ่านไปที่อาคารแห่งนี้ สามารถมองเห็นชื่อบริษัท ยิบอินซอย ได้อย่างลางๆ 
 
คุณชัยมงคล (ทอม) เสน่หาปัจจุบันอายุ 70 ปี เป็นเจ้าของบริษัท เปี่ยมบุญทัวร์ซึ่งเป็น INBOUND TOUR ได้เล่าให้ฟังว่าเมื่อสมัยที่เป็นเด็กอายุ5-6ขวบเคยเล่นอยู่ที่บ้านรับรอง ของท่านประธานคุณยิบ ยิบอินซอย เพราะคุณพ่อของคุณทอมคือคุณบุญมี เสน่หาทำงานที่บริษัท สาเหตุที่ได้ทำงานก็เนื่องจากว่า คุณบุญมี เคยทำงานที่ บริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด จังหวัดภูเก็ต แต่ต่อมาทางบริษัทฯได้เปลี่ยนนโยบายจึงลาออกโดยมีความคิดว่า ทุ่งสงจะต้องเป็นเมืองที่เจริญในอนาคต จึงได้เดินทางมาทำงานเป็นพนักงานขนส่งสินค้า ของบริษัท ร.ส.พ.ทุ่งสง 

ช่วงเวลากลางวันพักเที่ยงเพื่อที่จะรองานช่วงบ่าย คุณบุญมีได้นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ พอดีคุณยิบ จะไปทานอาหารกลางวันเดินมาเห็นเข้าคงจะแปลกใจว่าคนงานนั่งอ่านหนังสื่อพิมพ์ภาษาอังกฤษก็สอบถามว่าอ่านภาษาอังกฤษได้หรือ ถามว่าเรียนจบมาจากที่ใดซึ่งคุณบุญมีก็ได้ตอบว่าเรียนจบจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลในกรุงเทพฯ ท่านจึงชวนมาทำงานด้วยกันที่ บริษัท ยิบอินซอย ในตำแหน่ง BOOK KIPPER และมีหน้าที่คอยรับฟังข่าวทางวิทยุภาษาอังกฤษว่า ราคาแร่ขึ้นลงอย่างไร ทำให้คุณบุญมีทำงานกับบริษัทยิบอินซอย จำกัดที่ทุ่งสง จนถึงเกษียณอายุ 

ที่สำคัญคือคุณทอมได้เล่าให้ฟังว่า คุณพ่อไปชอบผู้หญิงซึ่งเป็นลูกสาวกำนันแต่ด้วยที่ยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่งกำนันก็ไม่ตกลงพอได้งานทำที่ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด แล้วจึงยกลูกสาวให้ตอนต่อไปจะเป็นสงครามมหาเอเซียบูรพาที่ทุ่งสงครับ   

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

เรือนรับรองยิบอินซอย

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 31 มกราคม 2567 

ทุ่งสงเป็นอำเภอใหญ่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราชพื้นที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขามีภูเขาทั้งลูกเล็กลูกใหญ่มากกว่า 50 ลูกจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองภูเขา ในระหว่างปี พ.ศ 2464 กรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟช่วงยาวจากกรุงเทพฯถึงสุไหงโก-ลกทำให้อำเภอทุ่งสงเปลี่ยนแปลงไปจากชุมชนชนบทเป็นชุมชนเมืองที่ทันสมัยเจริญรุ่งเรืองตามลำดับในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองทุ่งสงได้เขียนในหน้าที่ 379 ไว้ว่า
 
 มีผู้ที่ลงทุนสร้างบริษัทและห้างร้านในอำเภอทุ่งสงมากขึ้นเป็นลำดับแต่ที่น่าสนใจคือ บริษัทยิบอินซอย  บริษัทนี้เป็นกลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ที่รับซื้อแร่จากอำเภอร่อนพิบูลย์และอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชและจากอำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแยกแร่และส่งออกไปต่างประเทศจากสถานีชุมทางทุ่งสงไปยังสถานีชุมทางหาดใหญและสถานีรถไฟกันตังในชื่อ บริษัทยิบอินซอยแอนด์กำปะนี จำกัด มีทุนหลักมาจากตระกูลยิบอินซอย ตระกูลลายเลิศและจูตระกูลก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ.2469 เมื่อแรกได้ใช้อาคารตึก2ชั้นของกรมรถไฟหลวง(อาคารเดียวกันกับธนาคารสยามกัมมาจนสาขาทุ่งสง)กิจการของบริษัทเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่พ่อค้าแร่ทั้งในและต่างประเทศครั้น พ.ศ.2473ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยิบอินซอย จำกัด 

ต่อมาได้ขยายกิจการทางธุรกิจด้านอื่นๆเช่น ด้านผลิตภัณฑ์ปุ๋ยและเคมีเกษตร(ตราใบไม้)เครื่องเหล็ก วัสดุก่อสร้าง ไฟฟ้ากำลัง อุปกรณ์สื่อสารและอื่นๆเป็นต้น นอกจากนี้ยังทำธุรกิจด้านการเงินในลักษณะเป็น กัมประโด ผู้ทำหน้าที่หาลูกค้าให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดและธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัดในจังหวัดต่างๆทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม25จังหวัดทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีฐานการเจริญเติบโตจากอำเภอทุ่งสงถึงกับมีสาขาตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาและที่อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนครในเวลาต่อมา 

ที่สำคัญนอกจากนั้นคือ ที่ถนนชนปรีดาใจกลางเมืองทุ่งสงมีบ้านหลังหนึ่งเป็นแบบทรงโคโลเนียล สวยงามมาก บ้านรูปทรงแบบนี้ส่วนมากจะเป็นบ้านของเจ้าพระยาหรือขุนนางผู้ใหญ่พอที่จะหาดูได้แถวๆ คลองบางหลวงฝั่งธนบุรี ในภาคใต้แทบจะไม่มีบ้านที่รูปทรงแบบนี้
 
ตัวบ้านเป็นแบบของชาวตะวันตกที่ออกแบบให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อนชื้นมีการระบายอากาศที่ดีมีฉนวนป้องกันความร้อน บ้านนี้จะไม่เหมือนที่อื่นๆเพราะมีแบบมลายูเสริมเข้ามาด้วย ตัวของบ้านมีคุณค่าหลายมิติ เป็นวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ที่ถ้าจะอธิบายอำเภอทุ่งสง ต้องใช้บ้านนี้ 

คนทั่วไปในทุ่งสงพากันเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านสวย แต่ไม่รู้ว่าเป็นบ้านของใครเพราะไม่มีป้ายชื่อหน้าบ้าน แต่คนที่มีอายุตั้งแต่ 50ปีขึ้นไปพอจะรู้ว่า บ้านหลังนี้คือ เรือนรับรองยิบอินซอย เพราะทางราชการได้มาขอยืมใช้ เพื่อรับรองผู้ใหญ่ของประเทศที่มาเยือนทุ่งสง

วันอาทิตย์ที่28 มกราคมที่ผ่านมาคุณมรกต ยิบอินซอย และคุณศุภฤกษ์ ลายเลิศ ได้จัดให้มีการทำบุญที่เรือนรับรองยิบอินซอยที่มีบริเวณเนื้อที่ดิน 4 ไร่ 2 งาน 97 ตารางวา อายุมากกว่า 100 ปีแห่งนี้ โดยมีข้าราชการผู้ใหญ่ของอำเภอเช่น นายกเทศมนตรี5สมัยของอำเภอทุ่งสง นายทรงชัย วงษ์วัชรดำรง และผู้มีเกียรติมากมายหลายท่านภายในงานมีการรำโนราถวายให้ผู้ที่มาร่วมงานได้ชมด้วย 

ครั้งต่อไปจะเล่าประวัติของอำเภอทุ่งสงที่ผูกพันเกี่ยวข้องกับพวกเราชาวยิบอินซอยให้ได้ทราบต่อครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร 

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 10 มกราคม 2567 

 ที่วงเวียนเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษาใกล้ๆ กับบริษัทของเรามีสถานที่สำคัญน่าศึกษาหาความรู้ 2 แห่งคือ โรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิซึ่งเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนแห่งแรกของประเทศไทยและฝั่งตรงข้ามก็คือวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร(พระสุโขทัยไตรมิตร)ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์มีน้ำหนักมากถึง 5,500 กิโลกรัม เฉพาะมูลค่าทองคำตามที่ได้บันทึกไว้ในกินเนสบุ๊คนั้น ราคาประมาณ 28.5 ล้านปอนด์

 วัดไตรมิตรมีชื่อเดิมว่า วัดสามจีนเล่ากันว่ามีชาวจีน 3 คนที่มีความสนิทสนมกันมากร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นวิทยาทาน ส่วนพระสุโขทัยไตรมิตรนั้นเดิมอยู่ที่วัดพระยาไกรย่านยานนาวาปัจจุบันนี้เป็นวัดร้างแล้วทางราชการได้ทำการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำเพราะถูกห่อหุ้มด้วยปูนปั้น โดยนำมาไว้ที่วัดไตรมิตรสร้างเพิงสังกะสีให้เพื่อกันแดดกันฝนให้อยู่ข้างพระเจดีย์หน้าโบสถ์ ทางวัดได้บอกกล่าวไปทั่วว่าวัดใดอยากได้ก็จะยกให้ มีหลายวัดอยากได้แต่ขาดแคลนพาหนะที่จะขนไป จนกระทั่งปี. 2498 มีการเตรียมงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษในปี. 2500 ทางคณะกรรมการวัดไตรมิตรฯสงสารพระพุทธรูปที่ไม่มีใครเหลียวแลจึงสร้างวิหารให้เป็นที่ประดิษฐานขณะที่ขนย้ายพระเพื่อนำเข้าวิหารเมื่อวันที่ 25 .. 2498 เชือกที่สอดใส่ใต้องค์พระพุทธรูปขึ้นเกี่ยวกับกว้านยกทานน้ำหนักไม่ไหวขาดลงทำให้องค์พระหล่นกระแทกพื้นคอนกรีตปูนที่พอกกระเทาะออกเห็นเนื้อในเป็นทองคำสุกปลั่ง คณะกรรมการวัดจึงจัดการกระเทาะออกทั้งองค์พระแต่ก็ได้เก็บเป็นความลับไม่ให้ใครรู้ จนเป็นข่าวเกรียวกราวเล็ดลอดออกมาเมื่อปี พ.ศ 2499

เมื่อมีพระพุทธรูปทองคำคณะกรรมการวัดจึงได้จัดสร้างมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 4 ชั้นทำด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลีโดยที่ชั้น4เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ ส่วนชั้นรองลงมาก็จะเป็นชั้นนิทรรศการว่ากว่าที่จะเป็นพระพุทธรูปทองคำนั้นมีกรรมวิธีการพอกคอนกรีตอย่างไร การกระเทาะอย่างไร และยังมีเชือกเส้นที่ขาดทำให้องค์พระหล่นกระแทกพื้นตั้งให้ได้ชมด้วย 

อีกชั้นก็เป็นประวัติของเยาวราชถนนที่มีความยาวเพียง 1.5 กิโลเมตร บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลว่าเดินทางมาประเทศไทยได้โดยวิธีใด และยังมีเรือสำเภาจำลองตั้งให้ชมด้วย

 ถ้าเป็นชาวพุทธครั้งหนึ่งในชีวิตของคุณควรที่จะมาเยี่ยมชมวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารสักครั้งเหมือนคนทั่วโลกที่มาเที่ยวชม เพราะที่วัดนี้นอกจากจะมีพระสุโขทัยไตรมิตรซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำแล้วยังมีหลวงพ่อโต (หลวงพ่อสร้อย) ซึ่งเป็นพระประธานในโบสถ์ และศาลเจ้าเทพเจ้าเห้งเจียซึ่งมีอายุยาวนานหลายร้อยปีให้ได้สักการะบูชาอีกด้วย และที่สำคัญมากที่สุดคือวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหารเป็นวัดที่เป็นประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีพระภิกษุชั้นสมเด็จ 2 รูป 2 เจ้าคณะจำพรรษาอยู่ที่วัดเดียวกัน

แถมอีกนิดเมื่อไหว้พระเสร็จแล้วถึงเวลาอาหารขอแนะนำว่าซอยตรงข้ามของวัดคือซอยสุกร 1 (ตรอกโรงหมู)มีอาหารอร่อยๆระดับเชลล์ชวนชิมให้ได้เลือกชิมมากมายเริ่มตั้งแต่บริเวณหน้าซอยจะมีเป็ดอบชานอ้อย ในซอยก็มีแดงราชาหอยทอด สุกี้ ร้านข้าวหมูแดงคนรอคิวกันแน่นคือร้านข้าวหมูแดงสีมรกต ข้างๆ ร้านคือร้านหมูสะเต๊ะซองกีข้างๆ อีกซอยนั่งแล้วมองเห็นพระมหามณฑปอย่างชัดเจนคือร้านโจ๊กอร่อยแต่ไปสายหน่อยก็หมดครับแต่ทางที่ดีแวะเข้ามาที่ครัวใบไม้ของเราดีกว่าอาหารก็อร่อยไม่น้อยหน้าใช้วัตถุดิบที่เลือกแล้วเลือกอีกแถมราคาไม่แพงอีกด้วย 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

พนักงานที่อาวุโสที่สุดของยิบอินซอย

ผู้เขียน : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ :​ 10 มกราคม 2567 

อาลัยการจากไปของ “คุณสมประสงค์ ใจสำราญ”

จากการจากไปของ คุณสมประสงค์ ใจสำราญ Vice President  สายธุรกิจ Enterprise Solutions บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2566 คุณเจียมทับทองและคุณปราณี พฤกษมณีจินดา ในฐานะตัวแทนของพนักงานยิบอินซอย ขอแสดงความเสียใจและร่วมไว้อาลัยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ของคุณสมประสงค์ ใจสำราญ

 “การจากไปของคุณสมประสงค์ ใจสำราญ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 สร้างความอาลัยให้กับพนักงานและผู้บริหารของบริษัทฯ เป็นอย่างมาก ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง คุณสมประสงค์ เข้าปฏิบัติงานกับ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2512 ในตำแหน่งฝ่ายบริการซ่อมเครื่องคำนวณยี่ห้อเบอร์โรวส์ ที่บริษัทฯ เป็นผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย ต่อมา บริษัทฯ เลิกการเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องคำนวณเบอร์โรวส์ (Burroughs) คุณสมประสงค์ จึงได้โอนไปสังกัดหน่วยงานคอมพิวเตอร์ ตำแหน่งสุดท้ายคือ Vice President สายงานธุรกิจ Enterprise Solutions ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับแผนก จากการที่ได้รับสมัครพนักงานรุ่นใหม่ที่มีบุคลิกดี เข้ามาดูแลลูกค้าของบริษัทฯ และสามารถสร้างยอดการขายให้กับบริษัทฯ ในระดับสูง สร้างการกล่าวขานในธุรกิจที่เราดำเนินอยู่ ประกอบกับคุณสมประสงค์เป็นคนที่มีจิตใจดี เป็นผู้ให้ เวลาที่มีงานกิจกรรมของบริษัทฯ พร้อมเสนอรางวัลต่างๆ ให้กับพนักงานเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจกับพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ”

เจียม ทับทอง Assistant to management

“...รำลึกถึง คุณสมประสงค์  ใจสำราญ  คุณสมประสงค์ หรือ ที่พนักงานเรียกกันว่า “คุณสอ”  เท่าที่สังเกตเห็นว่าเป็นผู้บริหารที่รักบริษัทฯ มีความรับผิดชอบ จริงจังกับการทำงาน ยึดถือกฎ ระเบียบเป็นสำคัญ ในการทำงาน  คุณสอได้เริ่มงานกับ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ในตำแหน่ง Service Representative  แผนก Burroughs เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2512 ซึ่งผ่านการสัมภาษณ์ขั้นต้นจาก คุณอำนัคฆ์ ศรีวรรธนะ ผู้จัดการแผนกบุคคล  และสัมภาษณ์ครั้งที่ 2  โดยผู้บริหารระดับสูง คุณธวัช  ยิบอินซอย  คุณสอได้ตั้งใจทำงานอย่างทุ่มเทตลอดมา และจากไปในตำแหน่งสุดท้ายคือ  Vice President  สูงสุดของสายธุรกิจ Enterprise Solutions  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566  สำหรับพนักงาน   คุณสอใจดี  มีเมตตากรุณา  ชอบช่วยเหลือพนักงานที่เดือดร้อน  และชอบแจกเงินให้พนักงานที่ช่วยงาน ในเทศกาลต่างๆ เสมอมา สุดท้ายนี้ พนักงานทุกคนรู้สึกสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและเคารพ  ขอให้ดวงวิญญาณ คุณสอ ได้พักผ่อนอย่างสงบ ไปสู่สุขคติในภพภูมิที่ดีสงบร่มเย็น”

ปราณี พฤกษมณีจินดา   Assistant to Vice president HR/YIP                                                                                                                                                        

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

อาลัยการจากไปของ
“คุณสมประสงค์ ใจสำราญ”

ผู้เขียน : ​ เจียม ทับทอง / ปราณี พฤกษมณีจินดา 
วันที่ :​6 ธันวาคม พ.ศ.2566

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะทำงานอยู่ในสถานที่แห่งเดียวเท่านั้นโดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการนานถึง60ปีคงจะหาได้ยากมาก 

คุณเจียม ทับทอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหารของบริษัทฯได้เข้ามาร่วมทำงานในบริษัทยิบอินซอย จำกัดตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2507 ในตำแหน่งเสมียนอยู่กับคุณยล  สมานนท์ กรรมการและเลขานุการของบริษัทเมื่อมีอายุ20ปีพอดี โดยทำหน้าที่ทั้งติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆของทางราชการ อาทิ รับรองพนักงานที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพราะในสมัยนั้นการเดินทางไปต่างประเทศยากลำบากมากขนาดต้องมีเส้นมีสายกับทางตำรวจในการทำพาสปอร์ต การยื่นภาษีสรรพากร การต่อทะเบียนรถยนต์ของบริษัทกับกรมตำรวจ การเสียภาษีที่ดินของบริษัทฯการติดต่อต่างๆ กับกระทรวงพาณิชย์  ติดต่อกองตรวจคนเข้าเมืองต่ออายุวีซ่าให้ชาวต่างประเทศลูกค้าของบริษัท ฯลฯ 

ภายในบริษัทนั้นคุณเจียมมีเกร็ดความรู้สนุกๆเล่าให้ฟังมากมายในฐานะที่เป็นพนักงานที่อยู่มานานที่สุดเช่นในสมัยก่อนนั้นบริษัทของเรานอกจากมีชาวต่างชาติที่เป็นคนยุโรปมากมายแล้วเรายังมีพนักงานเป็นคนจีนแท้ๆทำหน้าที่แม่บ้าน4คนแต่งกายแบบชาวจีนทั่วไป คนหนึ่งมีหน้าที่ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทใส่ขวดไว้ชงน้ำชา อยู่ที่หน้าห้องท่านประธานสมัยนั้น คือ คุณยิบ ยิบอินซอย  หรือแขกยามที่เป็นชาวอินเดียแท้ๆ ซึ่งคนสุดท้ายคือ นายสุเรนดรา ปราสาท มิสรา นั้นทำงานกับบริษัทของเรานานถึง 50ปีและด้วยบริษัทของเราเป็นบริษัทแรกของประเทศที่เป็นผู้นำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศโดยมีฝรั่งสัญชาติเยอรมันเป็นผู้จัดการแผนกปุ๋ยเวลาที่สั่งปุ๋ยเข้ามาจากเมืองนอกจะเป็นผู้ที่ทดสอบด้วยตัวเองโดยวิธีใช้นิ้วแตะที่ปุ๋ยแล้วเอามาแตะที่ลิ้นจะรู้ได้เลยว่า ปุ๋ยนั้นเป็นของแท้หรือของเทียม  

ภายในบริษัทนั้นคุณเจียมเล่าให้ฟังว่า ไม่เคยมีปัญหากับหน่วยงานต่างๆเพราะว่าเราเป็นหน่วยงานที่ให้บริการแก่พนักงานให้ความจริงใจต่อทุกคนในทุกเรื่องและตัวของคุณเจียมเองยังได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมชาวยิบอินซอยถึง 2 สมัย 

ทุกๆ ปีทางชมรมจะจัดงานมีการมอบรางวัล(ทองคำ)ให้กับพนักงานที่ปฏิบัติงานกับบริษัทครบ10,15,20,25,30, 35, 40, 45, 50, 55, 60 ปี ฯ   ซึ่งคุณเจียมได้รับมาหมดแล้วสิ้นปีนี้จะเป็นคนแรกของบริษัทที่จะได้รับรางวัลพนักงานที่ทำงานครบ 60 ปีเป็นทองคำหนัก 5 บาท 

คุณเจียมเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงชนิดคนที่อายุ60ปีอายเพราะทุกวันนี้ขับรถไปกลับระหว่างบ้านที่ถนนพระราม2 กับบริษัทฯ ทุกวัน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ชอบปลูกต้นไม้และเลี้ยงสุนัขเป็นงานอดิเรก ใครอยากมีสุขภาพดีเชิญปรึกษาได้ครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วันลอยกระทง 
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : ​​22 พฤศจิกายน   2566

ใกล้วันลอยกระทงแล้ว คุณนึกถึงอะไร

วันลอยกระทงเป็นประเพณีสำคัญเก่าแก่ของไทย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน12 หรือวันขึ้น15ค่ำ เดือน12 เป็นวันที่มีพระจันทร์เต็มดวงและเป็นช่วงที่มีน้ำเต็มตลิ่ง ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน

วันลอยกระทงนั้น มีเกร็ดตำนานแตกต่างกันไปตามเหตุผลและความเชื่อของแต่ละบุคคล บ้างก็ว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ขอขมาต่อพระแม่คงคา และเพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบเนื่องมาแต่โบราณในประเทศไทย แต่ละจังหวัดก็จะจัดงานรื่นเริงในเทศกาลลอยกระทงแตกต่างกันไป ที่เริ่มจัดงานแล้วตั้งแต่วันนี้คือที่จังหวัดสุโขทัย มีกำหนดการว่านายกรัฐมนตรี เศรษฐี ทวีสิน ก็จะเดินทางไปร่วมงานด้วย

ในกรุงเทพฯ มีการจัดงานเทศกาลลอยกระทง โดยเฉพาะสถานที่อยู่ริมแม่น้ำมากมายหลายแห่ง มีกิจกรรมการแสดงมากมาย สะดวกใกล้ที่ใดก็ไปที่นั่น สิ่งที่ต้องระมัดระวังในเรื่องสิ่งแวดล้อม คือการคัดเลือกกระทงที่จะนำมาลอย ควรจะใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเช่น กระทงที่ทำจากต้นกล้วย มันสำปะหลัง ขนมปังฯลฯ หลีกเลี่ยงการใช้โฟมเพราะย่อยสลายยากมาก และควรจะลอยในสถานที่ปิดเพื่อที่ทางการจะได้จัดเก็บง่าย คิดว่าริมคลองผดุงกรุงเกษมตรงกันข้ามกับบริษัทของเรา ก็น่าจะเป็นสถานที่ลอยกระทงได้เป็นอย่างดี

และต้องอย่าลืมนะครับว่า ที่วัดมหาพฤฒารามวรวิหารใกล้ๆ กับบริษัทของเรา จะรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ไม่ได้จัดมานานกว่า 30ปี สุขทุกวันพระ ร่วมฟังพระเทศนาง่ายๆ เพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน โดยครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนตรงกับวันลอยกระทงพอดีจึงขอเชิญชวนชาวยิบอินซอยทุกท่านมาร่วมกันรื้อฟื้นวัฒนธรรมไทยกันที่วัด ระหว่างเวลา 9.00-10.00น. อย่าลืมแต่งชุดไทยตามประเพณีด้วยเน้อ…แล้วช่วงเวลาเย็นก็ไปลอยกระทงด้วยกันครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร
 
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : ​​15 พฤศจิกายน   2566

ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารยิบอินซอยในอดีต ที่เลือกสถานที่ตั้งบริษัทในกรุงเทพฯ โดยได้เช่าพื้นที่บริเวณปลายถนนมหาพฤฒารามจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นย่านการค้าของชาวจีนและต่างชาติ อยู่ใกล้กับศูนย์กลางการคมนาคมทั้งสถานีรถไฟ ท่าเรือ ไปรษณีย์กลาง ฯลฯ และยังอยู่ท่ามกลางชุมนุม โรงพยาบาล ธนาคาร โรงเรียน และ วัด

วัดที่อยู่ใกล้กับบริษัทคือ “วัดมหาพฤฒารามวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเดิมชื่อว่า “วัดท่าเกวียน” เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียนที่เดินทางมาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านพากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่าเรียกตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบบริเวณวัด

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เคยอยู่ในเพศบรรพชิต ได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดนี้ ในคราวนั้นพระอธิการแก้วเจ้าอาวาสได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆ นี้ พระองค์จึงมีรับสั่งว่า “ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่” หลังจากนั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ ในเวลาต่อมาจึงโปรดให้พระราชทานสมณศักดิ์พระอธิการแก้วเป็น ”พระมหาพฤฒาจารย์” และโปรดให้สร้างพระอารามใหม่สถาปนาขึ้นในพระอารามหลวงพระราชทานนามว่า “วัดมหาพฤฒาราม” 

จิตรกรรมฝาผนังของวัดมหาพฤฒาราม แตกต่างจากวัดอื่นตรงที่เขียนเรื่อง ”ธุดงควัตร13” และการไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกา แทนการเขียนเรื่องทศชาติชาดกหรือพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า โดยนำเอาวิธีการเขียนภาพแบบ 3 มิติ ตามวิธีการเขียนภาพจิตรกรรมตะวันตก เข้ามาใช้ในการเขียนภาพทิวทัศน์ มีการจัดองค์ประกอบภาพให้มีความลึก เหมือนจริงตามธรรมชาติ และได้รับเอารูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก เข้ามาใช้ในการวาดภาพตกแต่งอาคาร ถ้าได้เดินเข้าไปดูภายในวัด จะเห็นภายในพระอุโบสถ บานประตูและหน้าต่างเป็นรูปวัวลาก หมายถึง ชื่อเดิมของวัดท่าเกวียน รูปช้าง หมายถึง เจ้าอาวาสพระอธิการแก้ว อายุ 107 ปี รูปเทวดาทูลพานสองชั้น ซึ่งมีพระมงกุฎวางอยู่ข้างบน หมายถึง เจ้าฟ้ามงกุฎ(รัชกาลที่4)   

พระปรางค์ 4 องค์ สร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ ที่ปรินิพพานไปแล้ว โดยมีขนาดใหญ่เล็กเรียงกัน ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับวิหารเหนือ ที่ต้องชมให้ได้คือ “พระพุทธไสยาสน์” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองศิลปกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีขนาดใหญ่โตเป็นรองก็แค่พระพุทธไสยาสน์วัดพระเชตุพนฯ(วัดโพธิ์) เท่านั้น ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีมาตั้งแต่ยังเป็นวัดท่าเกวียน และวัดตะเคียน แต่เดิมไม่ได้ใหญ่ยาวดังในปัจจุบัน แต่รัชกาลที่4 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่ขึ้น

ปัจจุบัน วัดมหาพฤฒารามวรวิหารได้รื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ไม่ได้จัดมานานถึง 30 ปี คือ ”สุขทุกวันพระ” โดยเชิญชวนพุทธศาสนิกชนมาร่วมรับฟังพระธรรมเทศนาง่ายๆ เพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันทุกวันพระ ครั้งแรกจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ตรงกับวันลอยกระทง ตามความเชื่อแบบไทย ซึ่งการลอยกระทงเป็นการลอยเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในแม่น้ำคงคา ด้วยการถวายกระทงและเทียน เพื่อบูชาและยังเป็นการรักษาวัฒนธรรมที่ดีงาม

ก็ขอเชิญชวนชาวยิบอินซอย รื้อฟื้นวัฒนธรรมไทยร่วมกับวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร เข้าฟังพระธรรมเทศนา วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ณ วัดมหาพฤฒารามวรวิหารเวลา 9.00-10.00น. โดยร่วมแต่งชุดไทยตามประเพณีมาในการนี้ด้วย 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 

ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : ​​8 พฤศจิกายน   2566

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปในการราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินพุทธศักราช 2566 ในวันพุธที่8 พฤศจิกายน ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ สนามหลวง

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์นี้ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อ “วัดสลัก” มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ทหารเอกของกรุงศรีอยุธยาคือ “นายบุญมา” ซึ่งมีตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพรและพรรคพวก 4 คน หลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อจะไปพบพี่ชายที่ดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืองราชบุรี ระหว่างทางได้พบกองกำลังทหารพม่า เห็นว่าท่าจะไม่รอดแน่ๆ บังเอิญเหลือบไปมองเห็นวัดเล็กอยู่ใกล้ๆ จึงตั้งจิตอธิตฐานว่า ...ถ้ารอดจากทหารพม่าในครั้งนี้ได้ จะกลับมาบูรณะวัดนี้ให้ดี... แล้วจึงจัดการคว่ำเรือหลบอยู่ด้านใน จนรอดพ้นจากกองกำลังทหารพม่า เดินทางต่อไปหาพี่ชายที่จังหวัดราชบุรี และกลับมาพร้อมพี่ชายช่วยพระเจ้าตากสินรบจนชนะทหารพม่ากู้กรุงศรีอยุธยาได้

พี่ชายของบุญมา ต่อมาได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์คือ “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และได้ทรงสถาปนา บุญมา น้องชายร่วมบิดามารดาเป็นมหาอุปราชตำแหน่งวังหน้า และต่อมาได้ทรงสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง “สมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท”

เมื่อได้ดำรงตำแหน่งแล้ว พระมหาอุปราชได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสลัก เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ และได้ทรงขอพระราชทานชื่อพระอารามจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า “วัดนิพพานนานาม” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และท้ายสุดได้เปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” 

ปัจจุบันนี้ ภายในวัดมีสิ่งที่น่าศึกษาหาความรู้ และน่าสนใจมากมาย นอกจากความร่มรื่นเงียบสงบ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท แผ่นศิลาจารึกหน้าพระประธานที่ระบุปีที่สร้างวัด ต้นพระศรีมหาโพธิอายุ 205 ปี พระศรีสรรเพชญ์ พระเจดีย์ทอง ฯลฯ  วัดมหาธาตุฯ นี้ นับว่าเป็นวัดแห่งสัจจะบารมี มีชื่อเสียงในด้านการศึกษาเป็นแหล่งกำเนิดของการวิปัสสนาจนถึงปัจจุบัน วัดนี้มีอายุยาวนานถึง 338 ปี แต่เชื่อไหมว่ายังไม่มีการจัดงานสมโภชแม้สักครั้งเดียว 

ในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานที่ประกอบด้วยคณะสงฆ์  หน่วยงานภาครัฐบาล พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันจัดงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ในระหว่างวันที่ 27ธันวาคม พ.ศ.2566 จนถึงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2567 ซึ่งจะมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะการสวดมนต์ข้ามปี การแสดงแสง สี เสียง ตลาดทุนวัฒนธรรม ฯลฯ 

ที่วัดมหาธาตุฯ นี้ทางผู้บริหารของบริษัทฯ ได้มาร่วมทำบุญสนับสนุนวัดมาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนท่านที่ต้องการความสงบร่มเย็น ได้มาชมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ชมพระอุโบสถที่ใหญ่โตที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องเตรียมพบกับงานฉลองครบรอบ 338ปีที่ยิ่งใหญ่ ในปลายปีนี้ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

ตักบาตรเทโวโรหณะ - ข้าวต้มลูกโยน 

ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : ​​1 พฤศจิกายน   2566

หลังวันออกพรรษาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของไทยที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11ของทุกปี ก็จะเข้าสู่ ”วันเทโวโรหณะ” คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาและจำพรรษาอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน ในวันนี้จึงมีการจัดประเพณี “ตักบาตรเทโวโรหณะ” ซึ่งคำว่า “เทโวโรหณะ”แปลว่า การเสด็จลงจากเทวโลก บรรดาพุทธศาสนิกชนก็จะมารอใส่บาตรในวันนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม ในการนี้ คณะผู้บริหารของเรานำโดย คุณมรกต ยิบอินซอย คุณแววรัตน์ ชำนาญภักดี ได้นำข้าวสารอาหารแห้ง และที่สำคัญคือ “ข้าวต้มลูกโยน” ขนมที่มีประวัติยาวนานมีรูปแบบการห่อที่มีเอกลักษณ์ นิยมทำเฉพาะเทศกาลตักบาตรเทโว นำไปร่วมทำบุญ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ 

ข้าวต้มลูกโยนนี้ ทางครัวใบไม้ภายใต้การนำของอาจารย์ป้อม อมรรัตน์ แซ่เฮง พร้อมคณะแม่ครัว ได้บรรจงทำอย่างพิถีพิถันสุดฝีมือ โดยได้ใช้เวลาทำถึง 2 วัน เริ่มตั้งแต่นำใบกะพ้อมาทำความสะอาดเตรียมเอาไว้ นำข้าวเหนียวแช่น้ำค้างคืน เตรียมหัวกะทิที่มีน้ำหนักพอๆ กับนำ น้ำตาลทรายใช้ 1 ใน 5 ส่วนของกะทิ เกลือนิดหน่อย เวลาที่ทำต้องผัดข้าวเหนียวกับกะทิและเกลือให้งวด ค่อย ๆ โรยน้ำตาล ผัดไปเรื่อยๆ จนน้ำตาลละลายหมด ผัดต่อไปจนข้าวเหนียวแห้งดี พักเอาไว้ให้เย็นแล้วจึงนำมาห่อ ซึ่งแต่ละพื้นถิ่นก็จะใช้ใบที่ห่อไม่เหมือนกัน ทางภาคอีสานจะใช้ใบเตยหรือใบตอง ภาคกลางใช้ใบจากหรือยอดมะพร้าวอ่อน ภาคใต้ใช้ใบมะพร้าวอ่อนหรือใบกะพ้อ

วิธีการห่อก็แล้วแต่ศิลปะของพื้นถิ่น ส่วนใหญ่แล้วจะห่อให้เป็นสามเหลี่ยมมีหาง การห่อนั้นต้องมีกรรมวิธี โดยจะใส่ถั่วดำต้ม กล้วยน้ำว้าสุก ตามแต่ชอบ ยุคใหม่นี้เปลี่ยนไป จะทำอย่างไรก็ได้ แต่ต้องมีเคล็ดลับถ้าห่อไม่แน่นจะไม่อร่อย แต่ถ้าอยากให้ห่อได้ง่าย ข้าวเหนียวที่ผัดต้องผัดให้ได้ที่ ห่อเสร็จแล้วนำไปนึ่งนานประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง เพื่อที่จะเก็บไว้ได้นาน 2-3วัน ในด้านรสชาตินั้นจะมีรสอร่อย หวานมัน มีเค็มนิดๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องห่อให้มีหางด้วย ก็เนื่องจากว่าช่วงที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมานั้น ประชาชนไปเฝ้าตักบาตรกันมากมาย แต่ไม่สามารถเข้าถึงพระพุทธองค์ได้ จึงโยนข้าวต้มไปตกลงในบาตรของพระองค์ทั้งหมด เป็นที่อัศจรรย์ยิ่ง จึงนิยมห่อแบบมีหาง เพื่อสะดวกแก่การโยน จึงเรียกกันว่า ข้าวต้มลูกโยน ครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย
ข้าวผัดรถไฟ-ข้าวผัดอเมริกัน 

 : ​ ​ สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: วันที่  ​​​1 พฤศจิกายน   2566

ในอดีตนั้นบริษัท ยิบอินซอย จำกัดของเรา ดำเนินกิจการซื้อขายสินแร่และขนส่งไปยังปีนัง รวมทั้งทำธุรกิจการค้าโดยขนส่งทางรถไฟเป็นหลัก ทำให้มีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่ใกล้ๆ บริเวณสถานีรถไฟ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการขนส่งหลายแห่ง

ผู้ที่เคยโดยสารรถไฟเพื่อเดินทางระยะไกลนั้น เมื่อถึงเวลาอาหาร อาจจะซื้อของกินจากพ่อค้าเร่ข้างทางรถไฟเมื่อเวลาที่ขบวนรถหยุดส่ง-รับผู้โดยสาร ถ้าปะเหมาะเคราะห์ไม่ดี ก็อาจจะได้อาหารดังที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เคยเขียนไว้เมื่อเดินทางขึ้นภาคเหนือ เมื่อรถไฟจอดที่สถานีจังหวัดอยุธยาเห็นพ่อค้าเร่แบกถาดขาย “กุ้งแม่น้ำชุบแป้งทอด” สีเหลืองแดงสวยน่ากิน ได้ซื้อมากิน ผลปรากฎดังที่เขียนเป็นกลอนนิราศว่า …อยุธยาไม่ได้เก่าแต่กรุง กุ้งก็เก่า…

นักเดินทางทางรถไฟประจำ ส่วนมากเวลาหิวจะนึกถึงตู้เสบียงของการรถไฟ จะไปนั่งสั่งอาหารมากิน ถ้าเป็นคอสุรา ก็จะสั่งกับแกล้ม เช่น “ยำเนื้อใส่แตงกวา” นั่งคุยไป มองทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟไป จนบางคนถึงกับฟุบลงกับโต๊ะ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์และความสะเทือนของรถไฟที่วิ่งบนรางเหล็ก แต่ถ้าเป็นอาหารง่ายๆเร็วๆ ก็คงจะไม่พ้น “ข้าวผัดรถไฟ” ซึ่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่เหมือนข้าวผัดธรรมดาทั่วไป คือ เริ่มต้นจะใส่กระเทียมผัดกับหมูให้เข้ากัน แล้วจึงใส่ข้าวลงไปผัด ใส่ผักคะน้า มะเขือเทศ หอมใหญ่ (บางครั้งก็ไม่ใส่) แล้วจึงตอกไข่ใส่ลงไป ใส่ซีอิ๊วดำหวานลงไปด้วย รูปแบบจะออกมา ไข่จะแฉะๆ ข้าวมีสีคล้ำๆ เพราะซีอิ๊ว ก็จะได้รสชาติไปอีกแบบครับ 

เมื่อเขียนถึงข้าวผัดรถไฟก็อดที่จะเขียนถึง “ข้าวผัดอเมริกัน” ไม่ได้ เพราะผู้ที่คิดค้นเป็นต้นสูตรไม่ใช่คนอเมริกัน แต่เป็นคนไทยแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์คือ “คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต” เจ้าของนามปากกา “นิตยา นาฏยะสุนทร” ผู้ที่เขียนนวนิยายเรื่อง “แก้วตาพี่” ที่โด่งดังสามีของเธอคือ “คุณวิลาศ มณีวัต” บรรณาธิการนิตยสารชาวกรุงคนแรก

คุณหญิงสุรีพันธุ์ ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารสกุลไทยไว้ว่า ในช่วงที่ทำงานเป็นผู้จัดการราชธานีภัตตาคาร ร้านอาหารของกรมรถไฟในสนามบินดอนเมือง เช้าวันนั้นมีสายการบินแห่งหนึ่งยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้อาหารเช้าสไตล์อเมริกันที่เตรียมไว้อย่างไส้กรอกและไข่ดาวเหลือเป็นจำนวนมาก คุณหญิงเลยจัดแจงนำข้าวมาผัดกับซอสมะเขือเทศ แล้ววางไส้กรอกและไข่ดาวที่เหลือเคียงข้างจาน แล้วรับประทานเองซะเลย แต่ดันมีทหารอากาศไทยเห็นเข้า จึงสนใจและได้สั่งข้าวผัดแบบเดียวกันมากินด้วย พอทหารอเมริกันมาเห็นอีก จึงเอ่ยถามชื่อเมนูนี้ ด้วยความที่คุณหญิงเองก็นึกไม่ถึงว่าจะมีคนสนใจเลยคิดชื่อ “ข้าวผัดอเมริกัน” ออกไปโดยทันที จากนั้นเป็นต้นมา เมนู “ข้าวผัดอเมริกัน” ก็เป็นที่รู้จักกันภายในก่อนที่จะแพร่หลายไปอย่างกว้างขวางจนทุกวันนี้  

ที่มาข้อมูล : สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

   แขกยาม   
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : 18 ตุลาคม 2566

แต่ก่อนนี้ บรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่อยู่เรียงรายในย่านฝรั่งทางตอนใต้ของกรุงเทพฯ แถวๆ สาทร ยานนาวาที่อยู่ไม่ไกลจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนมากเป็นท่าเรือและโกดังสินค้า ต่างก็จ้างพนักงานมาดูแลเป็นเวรยาม เพื่อป้องกันบรรดาหัวขโมยที่จะเข้ามาขโมยทรัพย์สิน 
ส่วนมากพวกยามที่ว่านี้ จะเป็นชาวอินเดียที่มีรูปร่างใหญ่โต จึงเรียกกันว่า “แขกยาม”

แขกยามบางคนนั้น เมื่อหมดเวลาทำงานออกเวรแล้ว ก็อาจจะไปประกอบอาชีพพิเศษ เพื่อหารายได้เพิ่มเติมเช่น เดินขายถั่วทอดตามที่เคยเห็นทั่วไป แขกยามบางคนทำงานพิเศษกลางวันส่วนช่วงกลางคืนอยู่ยาม ก็แอบหลับบ้าง จนมีคำพูดล้อเลียนกันว่า “หลับยาม” 

มีเรื่องเล่าสนุก เรื่องหลับยามของแขกยาม เช่น วันหนึ่งผู้จัดการบริษัทมาทำงานแต่เช้า ยามเปิดประตูให้เข้าแล้ว ความที่อยากจะเอาใจหรืออะไรก็เหลือจะเดา ยามบอกกับผู้จัดการว่า เมื่อคืนนี้จ๋านฝันว่า เจ้านายถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ผลปรากฏว่า ช่วงสายๆ ยามคนนั้นถูกไล่ออก เพราะแสดงว่าเมื่อคืนนั้นหลับยาม

ที่บริษัทยิบอินซอยของเรา “คุณเจียม ทับทอง” ที่ปรึกษาบริษัทฯ และเป็นพนักงานที่อาวุโสสูงสุด ได้นำเอกสารมาให้ดูพร้อมบอกเล่าให้ได้ทราบว่า เมื่อปี พ.ศ2490 บริษัทของเรา ได้จ้างชาวอินเดียโดยเรียกว่า “แขกยาม” ให้มารักษาความปลอดภัยในที่ทำการของบริษัทฯ ดังนี้ 
          สำนักงานใหญ่ ถนนมหาพฤฒารามผลัดกลางวัน และผลัดกลางคืนรวม 11คน
          โกดังรับส่งสินค้าวัดพระยาไกร ซอยบอร์เนียว (ถนนเจริญกรุงซอย76/1) ผลัดกลางวัน และผลัดกลางคืน 7 คน
          โรงงานรถแทรกเตอร์ ถนนตก ผลัดกลางวัน และผลัดกลางคืน 3 คน

แขกยามที่บริษัท จะมีที่พักตรงที่เป็นอาคารจอดรถทุกวันนี้ และไม่มีการหลับยามอย่างที่ล้อกัน เพราะนอกจากมีหัวหน้ายามที่เป็นชาวอินเดียเหมือนกัน คอยตรวจตราดูแลแล้ว แขกยามยังต้องคอยตีแผ่นเหล็กด้วยฆ้อนทุกชั่วโมง และที่สำคัญคือ ผู้บริหารสมัยนั้นยังมีเครื่องมือชนิดพิเศษที่ไม่เคยเห็นคือ “กุญแจยาม” ที่ทุกๆ ชั่วโมงยามที่เข้าเวร จะต้องมาไขกุญแจที่ตัวแม่ของกุญแจ ซึ่งในตัวแม่กุญแจจะมีม้วนกระดาษพิมพ์เวลาที่มาไข ทำให้ตรวจเช็คได้ง่าย กุญแจยามนี้ สามารถดูได้ที่ห้องทำงานของคุณเจียม ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้บริหารท่านใดเป็นผู้ซื้อมา

จนเมื่อปีพ.ศ 2549 ก็ได้มีการจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัย (บริษัท ไจแอ้นท์ กรุ๊ป จำกัด) เข้ามาเสริม ใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยคนไทยดูแลผลัดกลางวัน ส่วนผลัดกลางคืนคงเป็นหน้าที่ของแขกยาม และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ 2559 บริษัทฯ ก็ใช้พนักงานคนไทยดูแลรักษาความปลอดภัยแทนแขกยามทั้งหมด โดยดูแลรักษาสำนักงานใหญ่ตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 6 คน โดยเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย 5 คนและหัวหน้า1คน

หัวหน้าแขกยามคนสุดท้าย คือ “นายสุเรนดรา ปราสาด มิสรา” ที่นอกจากจะทำหน้าที่หัวหน้ายามแล้ว เมื่อพ้นหน้าที่ ยังเป็นผู้เดินหนังสือรับส่งเงินเข้าธนาคาร เพราะเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์อย่างดียิ่ง ทำงานกับบริษัทฯเป็นเวลาถึง 50 ปีเศษ เมื่อพ้นสภาพฯ ก็ได้เดินทางกลับประเทศอินเดีย   

ขอยกข้อเขียนของคุณเจียม ทับทองในฐานะประธานชมรมสัมพันธ์บริษัทเมื่อปีพ.ศ 2542 ว่า
ในขณะที่ปัจจุบันนี้ บริษัทฯ ได้นำวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ทันสมัยอื่นๆ เครื่องใช้ประจำสำนักงานเดิมเช่น เครื่องพิมพ์ดีดแบบธรรมดา ถูกโละทิ้งขายเป็นเศษเหล็กไปเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่อยู่คู่กับบริษัทฯ และได้ใช้งานมาเกือบค่อนศตวรรษคือ แผ่นเหล็กตีบอกเวลาคนตีต้องตีเป็นจังหวะ นับในใจทั้งเวลาเข้างานเช้า พักเที่ยง เข้างานช่วงบ่ายโมง และเวลาเลิกงาน ก็ยังคงเป็นเอกลักษณ์ให้ได้ยิน และได้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ ในขณะที่ทั้งคนตีและคนฟัง ได้ล้มหายตายจากไปหลายสิบชีวิต แต่แผ่นเหล็กนี้ จะยังคงยืนหยัดสู้แดดสู้ฝนคู่กับเทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่ต่อไป...

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

รู้รอบออฟฟิศเรา
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : 27 กันยายน 2566

นอกจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารระดับสูงในอดีตที่ เลือกทำเลที่ตั้ง บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ของเราอย่างชาญฉลาดคือ ตั้งอยู่ในย่านการค้าที่เจริญและทันสมัยที่สุดในสมัยนั้นแล้ว ยังแวดล้อมไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งสินค้าทั้งทางบกที่มีถนนเจริญกรุงเป็นถนนหลัก ทางน้ำก็มีคลองผดุงกรุงเกษมและแม่น้ำเจ้าพระยา ทางรางคือทางรถไฟที่เริ่มต้นจาก “สถานีหัวลำโพง”

บริเวณสถานีหัวลำโพงในอดีตนั้น เคยเป็นทุ่งเลี้ยงวัว มีต้นไม้ขนาดใหญ่คือ “ต้นลำโพง” ขึ้นอยู่จำนวนมาก ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ทุ่งวัวลำพอง” เช่นเดียวกับชื่อ “วัดหัวลำโพง” ที่เรียกกันว่า “วัดวัวลำพอง” แล้วก็เรียกผิดเพี้ยนจนมาเป็น “วัดหัวลำโพง” ทุกวันนี้

สถานีหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของไทย เริ่มก่อสร้างในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คือในปีพ.ศ2453 และก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดใช้อย่างเป็นทางการ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯทรงทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459

สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) สร้างในลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียน ใครที่เคยเดินทางไปเที่ยวที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะเห็นว่ามีสถานีรถไฟคล้ายๆ กับสถานีรถไฟหัวลำโพงของเรา

ใครที่เคยได้ใช้บริการของการรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงคงจะจำได้ดีว่า เคยมีโรงแรมอยู่ภายในชื่อ “โรงแรมราชธานี” และอาหารเด่นขึ้นชื่อในตู้เสบียงที่กลายเป็นเมนูดังของบรรดาร้านอาหารสมัยนี้พอๆ กับผัดกะเพราคือ “ข้าวผัดรถไฟ” (มีโอกาสจะเขียนแนะนำครับ) และบริเวณหัวลำโพง ยังเป็นต้นทางของถนนสายสั้นสายหนึ่งของกรุงเทพมหานคร คือ ถนนมหาพฤฒารามที่ไปสิ้นสุดที่บริเวณสะพานพิทยเสถียร หน้าบริษัทของเรา   

ปัจจุบัน แม้ว่าการรถไฟจะย้ายไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ที่บางซื่อแล้ว สถานีรถไฟกรุงเทพหัวลำโพง ก็ยังมีรถไฟเข้าออกวันละ 62 ขบวน เป็นรถไฟธรรมดา รถไฟชานเมือง และรถนำเที่ยว และที่สำคัญคือบริเวณสถานีที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม จะมีเรือโดยสารสาธารณะใช้พลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเส้นทางเดินเรือสีเขียวสายแรกของไทย เริ่มจากท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพงจนถึงท่าเรือเทวราช แวะจอด11สถานี มีเรือให้บริการจำนวน 8 ลำ แต่ละลำผู้โดยสารไม่เกิน 20คน โดยเรือแต่ละลำมีชื่อเรียกตามชื่อเดือนของไทยตั้งแต่ ผดุงมกรา ผดุงกุมภาฯลฯ

ทางราชการได้มีนโยบายว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะปรับปรุงหัวลำโพงอย่างจริงจัง เพื่อจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งเทศกาล มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชม ทำรายได้เข้าประเทศต่อไป 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

รู้รอบออฟฟิศเรา  
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : 6 กันยายน 2566

           ยิบอินซอย มีความมั่นคงยั่งยืนมาจนปัจจุบันอายุเกือบจะ 100 ปีแล้ว ก็เพราะความมีวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มีความทันสมัยอยู่เสมอ สิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ก็คือ “การเลือกทำเล” ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ที่ถนนมหาพฤฒารามในปัจจุบัน
          ย้อนความกลับไป สำนักงานแห่งแรกของยิบอินซอย ตั้งขึ้นในปี  พ.ศ. 2469 อยู่ที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในนามห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลในชื่อ “ยิบอินซอยแอนด์โก”  โดย นายยิบอินซอย ร่วมหุ้นกับ นายยับหลง (บิดา) นายเลนำคิน (บิดานางเซียม ยิบอินซอย  นางมีเลียน  จูตะกูล และนายฉันท์ ลายเลิศ) และนายจูยูมิน (นายชู  จูตระกูล)  และผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่านในสมัยนั้น ทำกิจการ “ค้าแร่” ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมธุรกิจที่เป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น คือ การทำเหมืองแร่ดีบุกของนายเหมืองปักษ์ใต้ แต่การซื้อขายแร่ขึ้นอยู่กับโรงถลุงที่ปีนัง ช่องทางการค้านี้เองที่ทำให้ยิบอินซอยเห็นโอกาสในการเป็นผู้รับซื้อแร่ส่งไปขายโรงถลุง กิจการเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ  จากสำนักงานที่เป็นเพียงห้องแถว 2 คูหาที่ชุมทางหาดใหญ่จึงต้องขยับขยายเพิ่มขึ้น
          ดังนั้น ในปี พ.ศ.2473 จึงจัดตั้ง “บริษัท ยิบอินซอย จำกัด” (Yip In Tsoi & Company Limited) ขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 150,000 บาท  มีผู้ถือหุ้น 7 คน ได้แก่ นายยิบอินซอย นายยับหลง  นายเลนำคิน นางเลมีเซียม นายโกซุน นายโกซุนหลิน และนางหร่อย  กรรมการชุดแรกของบริษัทประกอบด้วย นายยิบอินซอย  นายยับหลง  และนางเลมีเซียม และมาตั้งสำนักงานใหญ่ที่อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนคร ต่อมาในปีพ.ศ.2482 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ ตำบลมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ในปัจจุบัน  ซึ่งในอดีตละแวกนี้ ถือเป็นชัยภูมิการค้าที่เจริญและทันสมัยที่สุดย่านหนึ่งของจังหวัดพระนคร เพราะเป็นถิ่นการค้าของชาวจีนและชาวต่างชาติทั้งยังเป็นแหล่งที่ตั้งของบรรดาที่ทำการสโมสรของชาวต่างชาติมากมายและยังแวดล้อมไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งสินค้าทั้งทางรถไฟ ทางน้ำ รวมทั้งการสื่อสารทางไปรษณีย์อย่างครบครัน              ใกล้กับบริษัทยิบอินซอยนั้นคือ “วัดมหาพฤฒาราม” ซึ่งเป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเดิมชื่อ ”วัดท่าเกวียน” เนื่องจากเคยเป็นที่พักของกองเกวียนที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ แต่ต่อมาชาวบ้านพากันเรียกชื่อวัดนี้ว่า “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่าเรียกตามต้นตะเคียนที่ขึ้นหนาแน่นอยู่รอบๆ บริเวณวัดมีมากถึงขนาดนำไม้ตะเคียนไปทำเสาเข็ม ภายในวัดจะมีพระพุทธไสยาสน์ที่มีมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดท่าเกวียนและ
วัดตะเคียน
          ด้านหน้าของบริษัท บริเวณจุดตัดข้ามคลองผดุงกรุงเกษม คือที่ตั้งของ “สะพานพิทยเสถียร” ซึ่งเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นสะพานโครงเหล็กที่สามารถเปิดให้แยกออกจากกันได้ ต่อมาสมัยรัชกาลที่6 ทรงโปรดให้ปรับปรุงให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก “สถาปัตยกรรมแบบเวนีเชียน” มีคานล่างเป็นรูปโค้ง สะพานนี้มีลวดลายตกแต่งประณีตงดงามมาก โดยเฉพาะเสาลูกกรง เสาโคมไฟฟ้าทั้ง 8 ต้น ตลอดจนลายหัวสิงห์ที่ปลายรอดสะพาน ซึ่งในอดีตคลองผดุงกรุงเกษมเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีการสร้างประตูกั้นน้ำที่ต้นคลองและปลายคลองเรือจึงไม่สามารถแล่นเข้าออกได้   ลองสังเกต สำรวจรอบๆ สำนักงานของเรา จะพบเรื่องราวและสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมาย 
ไว้วันหน้าจะนำมาเล่าให้ฟังอีกครับ  

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

“ขนมเข่ง” วันสารทจีน  
ผู้เขียน : สันติ อิ่มใจจิตต์ 
วันที่ : 23 สิงหาคม 2566

 ​ใกล้จะถึงวันสารทจีน ซึ่งเป็นวันที่ชาวจีนจะทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหารคาวหวานมากมายหลายอย่างเพื่อแสดงถึงความกตัญญู และอาหารหวานที่ขาดไม่ได้คือ  “ขนมเข่ง”   

ประวัติความเป็นมาของ “ขนมเข่ง” นั้นมีเรื่องเล่ามากมายหลายทาง หนึ่งในนั้นคือ ชาวจีนที่หนีความลำบากในการทำมาหากินในประเทศ ได้เดินทางมายังประเทศไทย โดยทำ “ขนมเข่ง" เพื่อเป็นเสบียงสำหรับการเดินทาง ข้ามน้ำข้ามทะเล เพราะเก็บไว้ได้นานไม่เสียง่าย แถมยังกินอร่อยและอิ่มท้องอีกด้วย 

เมื่อถึงวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษชาวจีนชาวจีนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทยดีขึ้นก็จะทำขนมเข่งมาเป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้เพื่อรำลึกถึงความลำบากในอดีตพร้อมทั้งให้ความหมายของขนมชนิดนี้ว่า กิจการงานและครอบครัวจะมั่นคงถาวร เพราะลักษณะของขนมที่ใส่ในเข่งจนเต็มมีความแน่นและเหนียวไม่บูดเสียง่าย

วิธีทำขนมเข่งนั้นไม่ยาก อาจารย์ป้อม (อมรรัตน์ แซ่เฮง) บอกว่า ก่อนอื่นนั้นต้องเตรียมกระทงใบตองแห้งเสียก่อน เหตุผลที่ต้องใช้ใบตองแห้ง เพราะจะได้ไม่มีความชื้น ขนมก็จะอยู่ได้นาน เอาน้ำมันเช็ดในกระทงให้ทั่วเตรียมไว้ และเตรียมเข่งสำหรับรองกระทงไว้ด้วย เวลาที่นึ่งจะได้ไม่แบะออก

แล้วจึงนำแป้งข้าวเหนียวประมาณ 5 ส่วน น้ำตาลทราย 3 ส่วน น้ำตาลปิ๊บ 1 ส่วน น้ำเปล่า 4 ส่วน โดยนำแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำตาลทั้งสองอย่างก่อน แล้วค่อยๆ เติมน้ำลงไปทีละน้อยนวดไปเรื่อยๆ จนน้ำหมด    ตั้งซึ้งใช้ไฟแรงรอให้น้ำเดือดลดไฟลงเหลือแค่ไฟกลาง เอากระทงที่เช็ดน้ำมันไว้ วางลงในเข่งตักแป้งหยอดใส่เรียงในซึ้งให้เต็มแล้วปิดฝาซึ้งให้สนิท คนโบราณจะจับเวลาในการนึ่งด้วยการจุดธูป 1 ดอกพอธูปมอดหมดขนมก็จะสุกพอดีเอาออกจากเข่งเรียงให้ชิดๆ กันใช้โคนตะเกียบจุ่มสีแดงแล้วจุดลงตรงกลางขนมเข่ง เพื่อเป็นสิริมงคลแล้วเอาน้ำมันมาทาบางๆ บนหน้าขนมเพื่อไม่ให้หน้าขนมแห้ง เป็นอันเสร็จการทำขนมเข่ง   

ขนมเข่งนั้นยังมีความหมายสื่อถึง ความหวานชื่น ราบรื่น และความอุดมสมบูรณ์อีกด้วยครับ 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย
กว่าที่จะเป็น “มาดีรักษ์”
: สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: 16 สิงหาคม 2566


ปัจจุบันมนุษย์เราส่วนมาก นิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเจือปนในการดำรงชีวิต ส่งผลให้เกิดมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเอง และสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้ชีวิตของเรา จึงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นการล้างหน้าด้วยสบู่ก็เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง

เพื่อเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์กับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย “บริษัท ใบไม้ในเมือง จำกัด” ซึ่งสนับสนุนโดยบริษัท ยิบอินซอย จำกัด โดยความควบคุมดูแลของ “คุณแววรัตน์ ชำนาญภักดี”  ได้ร่วมมือกับ “คุณชุมนุมพล สิทธิสอน” จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ดอยหล่อ ซึ่งคุณชุมนุมพล เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป เริ่มตั้งแต่จบการศึกษาทางด้านการแปรรูปและควบคุมคุณภาพสมุนไพรจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้คลุกคลีช่วยเหลือชาวบ้าน จนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอยหล่อ และยังได้ศึกษาวิชาการที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ โดยได้ไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่ำเรียนวิชาการทำฟาร์มจุลินทรีย์กับ “ศ.ดร.เครูโอะ ฮิหงะ”   ซึ่งเป็นผู้ที่ค้นพบและพัฒนาจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) ซึ่งโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในเรื่อง EM  ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าของโรงงานเกี่ยวกับจุลินทรีย์ถึง 140 ประเทศทั่วโลก โดยคุณชุมนุมพลได้ใช้เวลาศึกษาคลุกคลีกับ ดร. เครูโอะ ฮิหงะนานถึงสองปีครึ่ง
           

เมื่อศึกษาจนจบ เดินทางกลับมาเมืองไทย คุณชุมนุมพล ยังได้ทำงานวิจัยต่ออีก 9 ปี จนสามารถผลิตสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมี โดยใช้ผลไม้สดและพืชพรรณธรรมชาตินำมาหมักกับจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ จนออกมาเป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่สะอาดและบริสุทธิ์ มีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือสารเคมี ที่สำคัญคือไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และนี่คือที่มาของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในชื่อ “มาดีรักษ์” ซึ่งมีจำหน่ายทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องครัว ทำความสะอาดพื้นผิว ทำความสะอาดห้องน้ำ ล้างมือ ซักผ้า ขจัดคราบไขมัน โดย “บริษัท ใบไม้ในเมือง จำกัด” เป็นผู้จัดจำหน่าย 

ปัจจุบัน คุณชุมนุมพล สิทธิสอน ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ดอยหล่อ และที่ปรึกษาวิสาหกิจวิถีพุทธนางแลได้เล่าให้ฟังว่า เสื้อผ้าที่ใส่เป็นประจำผลัดเปลี่ยนกันเป็นประจำมีทั้งหมด 4 ตัว ใช้มานานถึง 25ปี ซักด้วยผลิตภัณฑ์มาดีรักษ์ เสื้อผ้ายังใช้ได้ดีไม่มีขาดเลยแม้กระทั่งตัวเดียว แล้วยังมีกลิ่นหอมสะอาดอีกต่างหาก 

ใครที่ยังไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของมาดีรักษ์ ลองใช้สักครั้งรับรองว่าจะต้องติดใจ ไม่กลับไปใช้ของที่มีสารเคมีอีก แต่ขอบอกสักนิดว่า ต้นทุนส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ที่ภาชนะบรรจุ เพราะฉะนั้นเมื่อใช้หมดแล้วสามารถนำภาชนะมาเติมใหม่จะได้ราคาที่พิเศษ ที่บริษัทยิบอินซอยของเรา ผลิตภัณฑ์มาดีรักษ์มีจำหน่ายที่ลานใบไม้ครับ  

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

รู้รอบออฟฟิศเรา

: สันติ อิ่มใจจิตต์ 
: 2 สิงหาคม 2566


เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

สวนกระจิ๊ดริ๊ด

สวนธรรมชาติท่ามกลางคอนโดสูง

: สันติ อิ่มใจจิตต์ 
:19 กรกฏาคม 2566

ที่ดินในกรุงเทพฯ นั้นคงจะทราบกันดีว่ามีราคาสูงมาก ยิ่งเป็นที่ดินอยู่ใจกลางถนนสุขุมวิทเห็นจะไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะมีราคาสูงสักเพียงใด
“สวนกระจิ๊ดริ๊ด” อยู่ที่ซอยสุขุมวิท16 เป็นสวนที่เจ้าของที่ดินตั้งใจสร้างเพื่อให้เป็นสวนธรรมชาติสวยที่อยู่ท่ามกลางคอนโดสูง เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่ง คุณมรกต ยิบอินซอย CEO ของเราได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เจ้าของที่ดินแปลงสวยนี้คือ “คุณภาณี ยิบอินซอย” หรือที่เรียกกันว่า “ป้านะ” เป็นพี่สาวของคุณพ่อ(คุณธวัช ยิบอินซอย)อดีตประธานกรรมการบริษัทยิบอินซอยและแย๊คส์ คุณป้าป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่อายุ 6ขวบ(ไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด) แต่เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งมาก ขนาดไปรักษาตัวต่างประเทศ ยังได้ใช้เวลาว่างไปเรียนเปียโนกับอาจารย์ฝรั่งซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ชั้น3 และป้านะต้องใช้วิธีถัดขึ้นไปถึงชั้น3 เพื่อเรียนเปียโน นอกจากเข้มแข็งแล้ว ป้านะยังเป็นผู้ที่สมถะ มัธยัสถ์ อดออม ไม่ใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย แต่จะใช้เป็นประโยชน์เพื่อสังคม ทำมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคนติดยาเสพติด มูลนิธิสัจจธรรม มูลนิธิภาณี ยิบอินซอย ช่วยเหลือการศึกษา การแพทย์ ป้านะจะช่วยแบบไม่เอาหน้า คือให้ไปถึงบ้านเขาดูว่าเขาลำบากจริงหรือไม่

บ้านป้านะอยู่ที่ซอยสุขุมวิท16 ใกล้กับสลัมคลองเตย จึงได้เคยทำงานช่วยเหลือครูประทีป อึ้งทรงธรรม(ฮาตะ)ครูวันละบาทของชาวสลัม บริเวณใกล้เคียงบ้านต่างก็เป็นคอนโดสูงๆ ทั้งนั้น จึงมีความคิดที่จะทำสวนตามธรรมชาติเพื่อให้คนที่ไม่มีโอกาส ได้เข้ามาพักผ่อนโดยมีเพื่อนของคุณหมอมที่เป็นสถาปนิก แต่สนิทสนมกับป้านะเพราะมาปรึกษาเรื่องปัญหาชีวิตเสมอๆ เป็นผู้ออกแบบ ทำ Landscape ให้ โดยที่ตรงวงเวียนป้านะอยากทำให้เหมือน “POCKET PARK” เพื่อให้คนเข้ามาใช้พักผ่อนหย่อนใจได้ ป้านะบอกว่า ป้ามีสวนสวยขนาดนี้ ป้าดูเองก็ดูได้ แต่ป้าอยากให้คนอื่นได้เข้ามาใช้พื้นที่ด้วย เพราะว่าคนที่อยู่แถวนี้อยู่สลัมคลองเตย ไม่มีสวนที่จะไปหรอก ป้านะตั้งชื่อด้วยตัวเองเลยว่า “สวนกระจิ๊ดริ๊ดกลางดงคอนโด” มีป้ายชื่อสวนสีเขียว มองเห็นได้อย่างชัดเจน

รอบๆ รั้วของบ้านสวนกระจิ๊ดริ๊ดนั้น จะมีบรรดารถเข็นขายของต่างๆ ตั้งแต่ ก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ และบรรดาอาหารต่างๆ เพื่อให้คนทำงานออฟฟิศได้กิน นอกจากจะอนุญาตให้ทุกคนค้าขายได้แล้ว ป้านะยังบอกกับพวกเขาว่า ทำงานกันหนักทั้งปีช่วงปีใหม่ให้เข้ามากินเลี้ยงที่ภายในบ้าน ในบ้านป้ามีสวนสวย ฉะนั้น ป้านะก็จะมี PARTY ของขาวรถเข็นช่วงปีใหม่อย่างสนุกสนานทุกปี

ปัจจุบัน แม้ป้านะจะจากไปแล้ว แต่สวนกระจิ๊ดริ๊ดแห่งนี้ ได้ถูกปรับปรุงและใช้เป็นประโยชน์เป็น พื้นที่แห่งคุณค่าร่วม สร้างสรรค์และขับเคลื่อนโดย มูลนิธิภาณี ยิบอินซอย มูลนิธิสัจจธรรม บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท ใบไม้ในเมือง จำกัด เป็นสถานที่พบปะของผู้คนที่มีความใส่ใจต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่เกื้อกูลกัน โดยมีร้าน ​ Y-Prepper Grocerant ” ที่คัดสรร ของกิน ของใช้ ที่มีความโดดเด่น มีเรื่องราวแห่งคุณค่า และรู้ที่มาที่ไป ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมานำเสนอตามวาะโอกาสและฤดูกาล รวมถึงมี “Garden shop” สำหรับผู้ที่รักต้นไม้ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน ในเรื่องการปลูกพืชอาหาร ดอกไม้และสมุนไพร

จึงอยากเชิญชวนชาวยิบอินซอย ได้เข้าไปชมความร่มรื่นในสวน เลือกซื้อสินค้าคุณภาพ ที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อใจ จากร้าน ​ Y-Prepper Grocerant โดยสวนกระจิ๊ดริ๊ดจะเปิดวันจันทร์ ถึง เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดวันอาทิตย์) 

เรื่องเล่าชาวยิบอินซอย

เงาะโรงเรียน 

เชื่อไหมครับว่า เงาะโรงเรียนนาสารนั้น
มีกำเนิดจากพนักงานชาวยิบอินซอยของเราเอง


: สันติ อิ่มใจจิตต์ 
:12 กรกฏาคม 2566

ไทยเราได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ มีผลไม้มากมายสายพันธุ์ ยิ่งช่วงนี้เป็นฤดูของผลไม้หลากหลายชนิดที่ทยอยสุกแก่จัดมาให้นักชิมได้ลิ้มรสชาติความอร่อย ซึ่งผลไม้ต่างๆ ในช่วงนี้นั้น จะเริ่มตั้งแต่ มะม่วง ต่อด้วยมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ลำไย น้อยหน่าฯลฯ โดยเฉพาะเงาะนั้น “เงาะโรงเรียนนาสาร” ซึ่งเป็นเงาะที่มีผลสีแดงเข้มปลายมีขนสีเขียว รสชาติหวาน กรอบอร่อย เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดในหมู่นักชิมเงาะทั่วไป

เชื่อไหมครับว่า เงาะโรงเรียนนาสารนั้น มีกำเนิดจากพนักงานชาวยิบอินซอยของเราเอง ซึ่งได้รับความกรุณาจาก “คุณเจียม ทับทอง” ที่เป็นพนักงานอาวุโสของบริษัทได้เล่าให้ฟังว่า บริษัทของเราที่ทำธุรกิจค้าไม้และเหมืองแร่ได้ว่าจ้าง “MR.K.WONG (ว่อง วงษ์ศรี)” ชาวปีนังให้เป็นผู้ดูแลธุรกิจในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้นำเงาะพื้นเมืองของปีนังมากิน และเห็นว่าภูมิประเทศและอากาศของอำเภอนาสารดี จึงนำเมล็ดที่เหลือเพาะพันธุ์ไว้ที่บ้านพัก(ปัจจุบันเป็นโรงเรียนนาสาร) ต้นเงาะที่คุณว่องเพาะไว้นั้น เจริญเติบโตชาวบ้านละแวกนั้นได้ชิมลูกเงาะของคุณว่อง ต่างพากันติดอกติดใจ ได้นำเมล็ดไปขยายพันธุ์ จนปลูกกันทั่วไปที่อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเรียกเงาะพันธุ์นี้ว่า “เงาะโรงเรียน” เพื่อเป็นเกียรติแก่ต้นแม่พันธุ์ที่ปลูกอยู่หลังโรงเรียนโดยฝีมือของ MR.WONG บุคลากรคนสำคัญของชาวยิบอินซอยในอดีตนั่นเอง
 
Buy Now
เบาะรองนอน
Sample text. Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit nullam nunc justo sagittis suscipit.
Quantity
฿590